มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดอบรมโครงการ "อาสาทำดี" รุ่น 3 นำข้าราชการจากโครงการร้อยใจรักษ์ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ใช้โมเดลการแก้ปัญหายาเสพติด 1 ในงานพัฒนาของดอยตุง ที่ประสบความสำเร็จจนทั่วโลกยอมรับในระดับสากล มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การทำงานแก้ปัญหายาเสพติดให้แก่ข้าราชการในอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ณ ตชด.327 ดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันก่อน
โดย หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การจัดอบรม โครงการ "อาสาทำดี" เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะตามแนวชายแดน จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้เป็นปีที่ 3 โดยจัดอบรมให้กับข้าราชการและผู้นำชุมชน ซึ่งมีการนำเอาโมเดลงานพัฒนาของดอยตุงมาเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา
"สมัยเริ่มแก้ปัญหายาเสพติดบนดอยตุง สมเด็จย่าเคยรับสั่งว่า คนที่เสพยาเสพติด คนที่ค้ายาเสพติดเขาไม่ใช่คนหรือ เมื่อเขาเป็นคน ทำไมเราไม่ช่วยเขา โดยพื้นที่ 93,915 ไร่ ผมเดินทั้ง 19 หมู่บ้าน เพื่อค้นหาว่าใครติดยาเสพติด ฝิ่น และเฮโรอีนบ้าง ซึ่งคนที่บอกไม่ติดคือหมอผีและกรรมการบ้าน ทั้งๆ ที่พวกเขาติด แต่ไม่มีใครกล้ารายงาน ผมจึงต้องถามเด็กอายุ 5 - 7 ขวบ เด็กบอกความจริงหมดว่าใครติดบ้าง ในที่สุดก็ได้ผู้ติดยามา 505 คน เราเสนอสามทางเลือกให้ คือ ไปรักษาตัวเอง มารักษากับเรา หรือ ตรวจปัสสาวะ ซึ่งถ้าพบสีม่วงก็เอาเข้าคุกเลย จาก 505 คน มารายงานตัว 469 คน โดยให้มารายงานตัวที่บ้านผาหมี เรียกว่าเอาเพชรตัดเพชร เพราะที่นั่นเป็นแหล่งค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คนที่เคยเสพและค้ายาเสพติดในสมัยนั้น วันนี้เขานั่งอยู่ตรงนี้ก็มี และเขาพร้อมจะร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ต่อไป ซึ่งผลการดำเนินงานถือเป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลา 60 วัน อยู่ร่วมกับแบบพี่น้อง ดูแลอย่างดี และเฝ้าติดตามอีก 940 วัน ในจำนวน 469 คน เราทำสำเร็จ 83% ซึ่งมากที่สุดในโลก ปัจจัยสำคัญในการให้โครงการประสบผลสำเร็จคือ ข้าราชการในพื้นที่ทั้งหมดต้องร่วมมือกับเราอย่างจริงจังและซื่อสัตย์ สุจริต ทำเพื่อประชาชนจริงๆ เมื่อแก้ปัญหาการติดยาได้แล้วต้องหางานให้เขาทำก่อนส่งเขากลับบ้าน สำคัญที่สุดคือกำลังใจ เขาไม่ใช่ขี้ยาอีกต่อไป วันนี้เขาคือ ฮีโร่ เขาได้ชีวิตใหม่ และกลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี"
สำหรับการแก้ปัญหายาเสพติดที่ดอยตุงหลังจากการอบรมในโครงการ "อาสาทำดี" รุ่น 3 คาดว่าจะประสบความสำเร็จไม่ต่ำกว่า 90% เพราะดอยตุงเป็นงานพัฒนาที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นที่ 1 โดยการอบรมในครั้งนี้ได้นำข้าราชการจากโครงการร้อยใจรักษ์ พร้อมด้วยราชการที่มีประสบการณ์จาก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงมอบประสบการณ์และเป็นที่ปรึกษา โดยหน่วยงานทุกหน่วยต้องมาเรียนรู้ร่วมกันจากที่นี่ แล้วนำไปปรับใช้ทั้งประเทศ ต้องทำงานด้วยระบบการฟังจากข้างล่างขึ้นข้างบน ถึงจะเปลี่ยนแปลงระดับประเทศได้