รายงาน "การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในประเทศไทย" ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกโดย FIA และ IGD ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อทำความเข้าใจในความพยายามของผู้ประกอบการในการนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบเพื่อปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งยังต้องการทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมและการรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อการปรับส่วนประกอบของอาหารเพื่อให้ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทุพโภชนาการ 2 ลักษณะในเวลาเดียวกัน คือ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งได้รับอาหารมากเกินไป คนอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้รับอาหารน้อยเกินไป การได้รับอาหารมากเกินไปทำให้เกิดโรคอ้วนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิด โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (NCDs) เช่น โรคเบาหวานและโรคหัวใจ ซึ่งปัจจุบันเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย ด้วยเหตุนี้ทั้งรัฐบาลและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารจึงพยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชากรในเชิงรุก ตั้งแต่การติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงข้อมูลด้านสารอาหารอย่างชัดเจน ไปจนถึงการวางแผนในเชิงปฏิบัติ รายงานนี้ยังเน้นว่าการปรับเปลี่ยนสูตรของผลิตภัณฑ์อาหารจะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค
มิสเตอร์ แมททิว โคแวค ผู้อำนวยการบริหาร FIA กล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตอาหารของไทยให้การสนับสนุนวาระสุขภาพแห่งชาติด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารมากยิ่งชึ้น ทั้งนี้ ร้อยละ 88 ของบริษัทที่ทำการสำรวจระบุว่าได้เริ่มปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เพื่อปรับปรุงคุณค่าของสารอาหาร ในขณะที่ร้อยละ 5 ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อภูมิทัศน์ด้านอาหารของประเทศไทย
ความพยายามของผู้ผลิตอาหารของไทยดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับการรับรู้และการยอมรับต่อการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารของผู้บริโภค เนื่องจาก 8 ใน 10 ของผู้บริโภคที่เข้าร่วมการสำรวจเห็นด้วยว่า ผู้ผลิตอาหารควรดำเนินการในเชิงรุก อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงไม่พร้อมที่จะยอมแลกระหว่างรสชาติกับประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยร้อยละ 82 ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจระบุว่าพร้อมยอมรับผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนสูตร หากบริษัทผู้ผลิตอาหารสามารถรักษารสชาติที่มีอยู่เอาไว้ได้
จากอุปสงค์ด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้น บริษัทที่ลงทุนในการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในเชิงพาณิชย์เป็นอย่างดี โดยรายงานยังระบุด้วยว่า การเสริมสร้างสุขภาพของคนไทยจะสามารถดำเนินการได้ดียิ่งขึ้นหากรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วม ผู้ผลิตอาหารราวร้อยละ 82 กล่าวว่า แรงจูงใจในเชิงผลประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล คือกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น
มิสเตอร์โคแวค กล่าวเสริมว่า "การที่ FIA จะผลักดันการดำเนินการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียในหลายภาคส่วน ซึ่งความร่วมมือนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงสูตรอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง"
มิส ซาราห์ บาร์แรตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IGD กล่าวว่า "IGD ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของสาธารณชนในวงกว้างได้อย่างเหมาะสม ด้วยการใช้ผลวิจัยและแนวทางการปฏิบัติที่ดีของ IGD ผลการศึกษาล่าสุดที่บริษัทร่วมมือกับ FIA จัดทำขึ้นเน้นให้เห็นว่าคนไทยใส่ใจในสุขภาพ และต้องการให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการปรับเปลี่ยนสูตรอาหาร
"บริษัทมั่นใจว่านี่คือโอกาสสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและรับมือกับความท้าทายที่สำคัญที่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกำลังเผชิญอยู่ การวิจัยให้ข้อมูลเชิงลึกจะทำให้เรารู้ว่าอุตสาหกรรมและรัฐบาลจะสามารถทำงานร่วมกันได้ในลักษณะใดเพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย บริษัทหวังที่จะได้เห็นการร่วมมือกันที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้บริโภค"
ผลสำรวจที่น่าสนใจจากรายงานฉบับดังกล่าว ได้แก่
ผู้บริโภคให้ความใส่ใจอย่างมากกับคุณภาพและรสชาติของผลิตภัณฑ์ โดยร้อยละ 94 ของผู้ที่เข้าร่วมในการสำรวจระบุว่า เมื่อต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญก็คือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยร้อยละ 80 บอกว่า รสชาติสำคัญอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 83 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจยังระบุด้วยว่า ฉลากผลิตภัณฑ์ที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบและสารอาหารคือ 1 ใน 3 ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
การเปลี่ยนแปลงสูตรหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มต่างไปจากเดิม กล่าวคือ แต่เดิมอุตสาหกรรมอาหารจะให้ความสำคัญในการกำจัดไขมันทรานส์และการลดแคลลอรี่ แต่ในปัจจุบันกลับให้ความสำคัญกับการลดปริมาณเกลือและคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ยังรวมถึง การยกเลิกการใช้สี/กลิ่นสังเคราะห์ และสารกันบูด ตลอดจนการเพิ่มไฟเบอร์ วิตามินและแร่ธาตุจำเป็นลงไปในอาหารและเครื่องดื่ม
การรักษารสชาติ เป็นความท้าทายระดับต้นๆ ในการเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์อาหาร ทว่าการคงไว้ซึ่งรสชาติของผลิตภัณฑ์และต้นทุนก็เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การยอมรับของผู้บริโภคก็ถือได้ว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหารเช่นกัน
เกี่ยวกับองค์กรอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชีย (Food Industry Asia หรือ FIA)
FIA จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือน กรกฎาคม 2553 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มบทบาทของอุตสาหกรรมอาหารในฐานะพันธมิตรที่วางใจได้ในด้านการพัฒนานโยบายเชิงวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย
FIA ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ โดยรวมผู้นำธุรกิจในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อหาแนวคิดใหม่ๆ ร่วมกันในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดจนสนับสนุนโนบายต่างๆ ในระดับภูมิภาคอันจะก่อให้เกิดผลดีแก่อุตสาหกรรมอาหารโดยรวม ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ FIA ได้จาก http://foodindustry.asia
เกี่ยวกับ IGD
IGD เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ที่ทำหน้าที่วิจัยและให้การอบรม IGD มีหน่วยงานย่อยที่ให้บริการด้านข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าสำหรับอุตสาหรรมสินค้าอุปโภคบริโภค โดยผลกำไรที่ได้จากการให้บริการจะนำไปสนับสนุนการดำเนินงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรขององค์กร