ความเสียหายให้รังผึ้งได้
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งมักพบในช่วงฤดูฝนคือ ผึ้งออกไปหาอาหารได้น้อยลง และปริมาณอาหารในแหล่งต่าง ๆ มีน้อยโดยแหล่งอาหารที่สำคัญในช่วงนี้ ได้แก่ ข้าวโพด งา ปาล์มน้ำมัน ไมยราบ กระถินนา เป็นต้นซึ่งพืชเหล่านี้จะให้เกสรเป็นส่วนใหญ่และเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญแก่ผึ้ง หากรังผึ้งมีประชากรหนาแน่น โอกาสเกิดโรคและศัตรูผึ้งเข้าทำลายก็จะลดน้อยลง สำหรับศัตรูผึ้งที่พบในช่วงฤดูฝน ได้แก่ ไรศัตรูผึ้ง จึงแนะนำให้เกษตรกรสำรวจรังผึ้งหลังเก็บน้ำผึ้งแล้วว่าปริมาณประชากรผึ้งภายในรังมีมากน้อยเพียงใด นางพญามีความสมบูรณ์หรือไม่ หากพบว่าภายในรังไม่มีนางพญา หรือนางพญาไม่สมบูรณ์ และประชากรผึ้งงานมีจำนวนน้อย ให้รวมรังผึ้งเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประชากรผึ้งให้เพียงพอสำหรับดูแลรัง หาอาหารป้อนนางพญาและตัวหนอนต่อไป
นอกจากนี้ รังผึ้งที่แข็งแรงจะต้องปราศจากศัตรูมารบกวน เกษตรกรจึงต้องหมั่นสำรวจรังผึ้งทุกสัปดาห์ หากพบไรศัตรูผึ้งให้ใช้วิธีกลกำจัด โดยการกระตุ้นให้ผึ้งสร้างหลอดรังที่มีตัวผู้จำนวนมาก โดยให้เกษตรกรตัดแผ่นรังผึ้งเทียมช่วงล่างออกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ผึ้งงานสร้างหลอดรังผึ้งใหม่
หลังจากนั้น ผึ้งนางพญาจะวางไข่เป็นผึ้งตัวผู้ในหลอดรังผึ้งที่สร้างใหม่ และเนื่องจากไรมักชอบไปวางไข่ในหลอดรังของผึ้งตัวผู้ หากพบไรในหลอดรังของผึ้งตัวผู้ ให้เกษตรกรตัดหลอดรังดังกล่าวไปทำลายทิ้ง หรือใช้กรดฟอร์มิก กรดแลกติก กรดอ๊อกซาลิก หรือกรดอะซิติก กำจัดไรศัตรูผึ้งในช่วงที่มีการระบาด หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน