ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G ที่กำลังมาถึงจะเร่งการเปลี่ยนผ่านธุรกิจอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 และพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยี 5G ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต คาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนอีก 6 ปี ข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 4 เท่า หรือเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ในความร่วมมือที่วิศวะมหิดลเรื่องการทดสอบเทคโนโลยี 5G กับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน 40 ราย นับเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งมีพันธมิตรที่ร่วมลงนามจากทุกกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้กำกับดูแล (Regulator) กลุ่มผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Provider) กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telecom Operator) กลุ่มผู้ให้บริการซอฟต์แวร์และโซลูชั่น (Software and Solution Provider) กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (Industry) กลุ่มสถาบันการศึกษา (Education Partner) ซึ่งประกอบด้วย ม.มหิดล ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.เกษตรศาสตร์ ม.บูรพา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลศิริราช สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และอีกหลายหน่วยงานพันธมิตรรวม 40 หน่วยงาน ระดมพลังร่วมขับเคลื่อนการทดสอบเทคโนโลยี 5G เพื่อเสริมศักยภาพและอนาคตอันแข็งแกร่งของประเทศไทย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า หลังจากได้วางโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่ EEC ไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก้าวหน้าไปอีกขั้นเพื่อผลักดันให้เกิดการทดสอบการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G (5G Use Case) อย่างเป็นรูปธรรม ในบริเวณพื้นที่ศูนย์ทดสอบ 5G พื้นที่ EEC ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา (5G Testbed @Sriracha) โดยได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมรองรับการลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ผลักดันให้เกิดการทดสอบการใช้งานบนสัญญาณ 5G ทั้งแบบ Indoor และ Outdoor เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่ง "ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G" (5G Testbed) แห่งนี้จะช่วยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถดำเนินงานทดสอบการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่ EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยี 5G ของภูมิภาคอาเซียนด้วย