ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก และความคาดหวังเชิงบวกจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนนอกรอบการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20

อังคาร ๒๕ มิถุนายน ๒๐๑๙ ๑๐:๑๓
วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 21 – 28 มิถุนายน 2562

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 21 มิ.ย.) ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ธนาคารกลางหลักๆ ของโลก ทั้ง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังเชิงบวก หลัง ประธานาธิบดี ทรัมป์ ระบุว่า จะพบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง นอกรอบการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ขณะที่ตลาดหุ้นจีน ปิดบวก เนื่องจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่จีน จะเจรจาการค้า ก่อนการพบปะกันของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ นอกรอบการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G-20 และมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มการเงิน หลังทางการจีนเรียกประชุมกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน ด้านราคาน้ำมัน ปิดบวก เนื่องจาก ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน หลังโดรนของสหรัฐฯ ถูกขีปนาวุธของอิหร่านโจมตี ขณะที่ราคาทองคำ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากดอลลาร์ สหรัฐฯ อ่อนค่า หลัง Fed ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก เนื่องจาก Fed ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย โดยกรรมการ Fed 7 ท่าน จาก 17 ท่าน สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ในช่วงครึ่งปีหลัง และความคาดหวังเชิงบวกหลังประธานาธิบดีทรัมป์ ยืนยันจะพบกับประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง นอกรอบการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G-20

ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก เนื่องจาก ประธาน ECB ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินยูโรอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ สนับสนุนหุ้นกลุ่มส่งออก

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวกเล็กน้อย โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะมีความคืบหน้า ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด

ตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปิดบวก โดยได้แรงหนุนหลังผู้แทนการค้า และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะเข้าเจรจาการค้ากับ รองนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ของจีน ก่อนการพบปะกันระหว่างผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ในการประชุมนอกรอบ G-20 และมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มการเงิน หลังทางการจีนเรียกประชุมกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน

ตลาดหุ้นไทย ปิดบวก เนื่องจากการส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเทียบเงินบาท สนับสนุนเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับ มีความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล

ตลาดน้ำมัน ปิดบวก เนื่องจาก ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน หลังโดรนของสหรัฐฯ ถูกขีปนาวุธของอิหร่านโจมตี

ตลาดทองคำ ปิดบวก โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ หลัง Fed ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย ประกอบกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ได้ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

ติดตามความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยประธานาธิบดี ทรัมป์ จะพบกับประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ในการประชุมนอกรอบ G-20 ในวันที่ 28-29 มิ.ย. ซึ่งเราคาดว่า มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่การเจรจาจะมีความคืบหน้าในเชิงบวก และสามารถตกลงกันได้ในหลายประเด็น ขณะที่การแสดงความเห็นของภาคเอกชนของสหรัฐฯ ต่อประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ โดยเราคาดว่า สหรัฐฯ จะยังไม่ปรับขึ้นภาษีกับจีนแบบรุนแรง เนื่องจาก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมาก

ถ้อยแถลงของประธาน Fed (25 มิ.ย.) เราคาดว่า จะเป็นไปในเชิงผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Dovish) สอดคล้องกับผลการประชุม Fed เมื่อสัปดาห์ก่อน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) (26 มิ.ย.) เราคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ 1.75% อย่างไรก็ตาม กนง.อาจส่งสัญญาณเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท หลังช่วงที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าเทียบสกุลเงินในภูมิภาคอย่างมาก

ติดตามการเลือกประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คนใหม่ (30 มิ.ย.) เพื่อประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ หลังจากธนาคารกลางหลักๆ ของโลก (ทั้ง Fed และ ECB) ได้ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนสภาพคล่องในตลาด และส่งผลบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงรอติดตามผลการเจรจาการค้าระหว่างประธานาธิบดี ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีน ในการประชุมนอกรอบ G-20 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งเราคาดว่า ผลการเจรจาน่าจะมีความคืบหน้าในเชิงบวก และอาจเปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อ หลังเสร็จสิ้นนอกรอบการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G-20 โดยปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลให้ นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น (Risk-On) และทำให้ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาฯ ล้มเหลว ซึ่งเราคาดว่า มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย จะกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับลดลงอย่างมากเช่นกัน ด้านราคาทองคำ และน้ำมัน ยังมีแนวโน้มได้รับแรงสนับสนุนจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านที่เพิ่มขึ้น และ จากสกุลเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่อ่อนค่า

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ กำไรภาคอุตสาหกรรมของจีน / ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP), ยอดขายบ้านใหม่ และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐฯ / ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น / อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน

เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีของไทยอย่างเป็นทางการ / ถ้อยแถลงของประธาน Fed / การประชุมกนง.ของไทย / ผลนอกรอบการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G-20 / การเลือกประธาน ECB คนใหม่

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO