นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจดทะเบียน กองทุนเปิดธนชาตมัลติอินคัม (T-MultiIncome) เพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท เนื่องจากในรอบการเปิดขายเมื่อวันที่ 4–10 มิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้สนใจลงทุนในกองทุนนี้จำนวนมากจนทำให้ขนาดกองทุนปัจจุบันอยู่ที่ 8,978 ล้านบาท (ณ วันที่ 20 มิ.ย. 62) ซึ่งเริ่มใกล้เคียงกับขนาดกองทุนที่จดทะเบียนไว้ 10,000 ล้านบาท ประกอบกับจะมีการเปิดขายรอบใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 1–5 กรกฎาคม และคาดว่าจะยังมีผู้สนใจลงทุนในกองทุนนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ขนาดกองทุนที่เดิมจดไว้ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ลงทุน
การที่ดอกเบี้ยทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางประเทศสำคัญทั่วโลกน่าจะมีการทยอยลดดอกเบี้ยลง เพื่อประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่แม้ว่าล่าสุดจะประกาศคงดอกเบี้ย แต่ก็มีท่าทีว่าพร้อมจะลดดอกเบี้ยในปีนี้ ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งภายในปีนี้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็มีการส่งสัญญาณพร้อมปรับลดดอกเบี้ยลง สอดคล้องกับเฟดอีกเช่นกัน ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัญหาสงครามการค้าของสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อ ไม่ใช่เฉพาะกับจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ด้วย
จากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่จะลดต่ำลงในระยะถัดไป เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนในหุ้นคุณภาพดี กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และตราสารหนี้ระยะยาว สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของ กองทุนเปิดธนชาตมัลติอินคัม T-MultiIncome ซึ่งเป็นกองทุนรวมผสมแบบไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุน โดยเน้นลงทุนในสินทรัพย์สร้างรายได้อย่างหุ้นปันผล กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และตราสารหนี้คุณภาพดี โดยทีมผู้จัดการกองทุนของ บลจ.ธนชาต จะปรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมให้กับผู้ลงทุน เพราะการผสมและปรับสัดส่วนการลงทุนระหว่างสินทรัพย์แต่ละกลุ่ม จะช่วยทำให้มีโอกาสที่ผลตอบแทนระหว่างทางของกองทุนมีความสม่ำเสมอมากขึ้น
สำหรับมุมมองทิศทางการลงทุนหุ้นไทยในปีนี้ เชื่อว่าจะมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ทั้งทิศทางของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนว่าจะคลี่คลายลงหรือตึงเครียดขึ้นเพียงใด รวมไปถึงการไหลของกระแสเงินในแต่ละภูมิภาคก็จะเป็นตัวกำหนดเช่นกัน
"บลจ. ธนชาต ยังเชื่อว่าในครึ่งหลังของปี 2562 ตลาดหุ้นไทยยังมีทิศทางที่ดีอยู่ จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลดลงทั่วโลก คาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะขึ้นลงไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดต่างประเทศ ประกอบกับมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค พบว่าไทยยังมีทุนสำรองอยู่ในระดับที่สูงมาก และประเทศไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ แม้การส่งออกในระยะนี้จะหดตัวก็ตาม นอกจากนี้ ยังคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ประเมินว่าหุ้นไทยปีนี้จะเทรดในกรอบ 1,630 - 1,780 จุด โดยหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนนี้ คือ กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นปันผล"
"ผลงานของกองทุน T-MultiIncome ก็สามารถทำได้ดีและน่าสนใจ หลังจากเปิดขายประมาณ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม – 21 มิถุนายน 62 สามารถทำผลตอบแทนไปแล้ว 3.01% (ความผันผวนผลการดำเนินงาน 2.77%) เทียบกับดัชนีอ้างอิงมาตรฐานที่ 3.40% (ความผันผวนดัชนีอ้างอิงมาตรฐาน 4.10%) และได้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 62 ในอัตรา 0.1 บาทต่อหน่วย" นายบุญชัย กล่าว
กองทุน T-MultiIncome เหมาะกับผู้ที่สามารถรับความผันผวนของราคาหุ้นได้ สามารถลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนได้ก่อนวันที่ 12 มีนาคม 2563 โดยมีนโยบายจ่ายคืนผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนในรูปแบบการรับซื้อคืนอัตโนมัติ (Auto Redemption) โดยจะจ่ายคืนไม่เกินปีละ 4 ครั้ง เปิดขายครั้งถัดไประหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม นี้ โดยลงทุนครั้งแรกขั้นต่ำ 50,000 บาท ส่วนครั้งถัดไปขั้นต่ำ 1,000 บาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมขอรับหนังสือชี้ชวนได้ในวันและเวลาทำการเสนอขายที่ บลจ.ธนชาต โทรศัพท์ 0-2126-8399 กด 0 หรือ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) โทร. 1770 หรือผู้สนับสนุนการขาย หรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่ บลจ.ธนชาต แต่งตั้ง www.thanachartfund.com
คำเตือน
- เอกสารวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมของสมาคมบริษัทจัดการกองทุน
- ผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนนี้ในช่วง 1 ปีแรกได้ หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน อาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมากได้
- ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับเงินลงทุน มากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในต่างประเทศและป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนจึงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
- หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก