"โดยภาพรวมแล้ว เรามองตลาดเป็น Sideway up เนื่องจาก Fund Flow ยังคงไหลเข้าอยู่ แต่ภายในประเทศของเราเอง การเมืองเรื่องของความมีเสถียรภาพ และการพิจารณางบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า จะเป็นตัวแปรที่ให้ตลาดผันผวน" คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าว
คุณเทิดศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ แม้จะเป็นรัฐบาลที่มีคะแนนเสียงสนับสนุนไม่เด็ดขาด อาจมีประเด็นเรี่องเสถียรภาพในการบริหารงาน แต่ก็ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในไตรมาส 3 นี้ คือการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรในเดือน ก.ย. 62
ถือว่าล่าช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมาราว 3 เดือน ซึ่งการพิจารณาที่ล่าช้า อาจมีผลต่อเนื่องไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการแรงกระตุ้นจากภาคเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก หลังจากภาคการค้าระหว่างประเทศมีปัญหา อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าโลก
โดย IMF คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 62-63 รอบล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขยายตัว 3.3% และ 3.6% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าที่ IMF เคยคาดการณ์ไว้เดิม จากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยืดเยื้อ โดยประเด็นที่ต้องติดตามคือการเจรจาของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ว่าจะสามารถหาข้อยุติได้หรือไม่ ในการพบปะกันในการประชุม G20 วันที่ 28-29 มิ.ย. 62 นี้ ที่ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังเห็นภาพการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าอีกในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP กับตุรกีและอินเดีย ทำให้ภาพรวมของสงครามการค้ายืดเยื้อและกระทบความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงก่อนหน้านี้ ช่วยลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งหันกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่สหรัฐฯ และยุโรป ที่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยชัดเจนในปีนี้ ขณะที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ลดดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้ง ส่วนอินเดียลดไปแล้ว 3 ครั้ง เป็นต้น
คุณเทิดศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับไทยนั้น สายงานวิจัยฯ คาดว่า ดอกเบี้ยทรงตัวหรืออาจปรับลงจากปัจจุบันที่1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก คือส่งออกชะลอตัว ทำให้การขับเคลื่อนมาจากภายในประเทศ คือภาคการบริโภคครัวเรือน ที่จะยังได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ โดยสายงานวิจัยฯ คาดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 62 ที่ 2.7% ชะลอจาก 4.1% ในปี 61
ส่วนกำไรตลาดในปี 62 นี้ สายงานวิจัยฯ มองแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีนี้ จากสถานการณ์สงครามการค้ารุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด เริ่มเห็น Downside ของประมาณการ จึงได้ปรับลดสมมติฐานกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ปี 62 ลดลงจากเดิม 2.25% มาอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 103.32 บาท เติบโต 5.59% จากปีก่อน
เมื่ออิงกำไรใหม่ ดัชนีเป้าหมายจะอยู่ที่ 1699 จุด บนสมมุติฐาน Market Earning Yield Gap 4.28% อย่างไรก็ตาม นับจากช่วงปลายเดือน พ.ค. 62 ที่ผ่านมา พบว่ามีแรงหนุนจาก Fund Flow ไหลเข้ามาต่อเนื่อง ผลจากการเมืองในประเทศที่เปลี่ยนผ่านมาสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การเพิ่ม NVDR เข้ามาคำนวณในดัชนี MSCI รวมไปถึงหลายธนาคารกลางหันมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน จากพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่พันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ในทางกลับกันช่วยหนุนให้ Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้น ล่าสุดมาอยู่ที่ 4.08% ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก หนุนให้ Fund Flow มีโอกาสถูกโอนถ่ายจากตลาดตราสารหนี้ มายังตลาดหุ้นในระยะถัดไปได้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้ได้หนุนให้เกิดการปรับฐาน PER ให้สูงขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมที่ 16.45 เท่า โดยในระยะสั้นอาจขยับขึ้นไปเหนือ PER ที่ราว 17 เท่าได้ กลยุทธ์การลงทุนจึงเน้นหุ้นที่มีความได้เปรียบทางด้าน Valuation เมื่อเทียบกับตลาด ดังนี้
- หุ้นที่กำไรเติบโต มีคุณภาพ BBL, BDMS, ROBINS, THANI, GPSC, RJH
- หุ้นได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ CK
- หุ้นที่มีเงินปันผลสม่ำเสมอ ภายใต้ดอกเบี้ยขาลง EASTW, SCCC, MCS
- หุ้นอาหารส่งออก ที่ถูกกระทบจำกัดจากสงครามการค้า TU