สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย จับมือ อินโดรามา เวนเจอร์ส และสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ส่งเสริมการใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลอย่างปลอดภัย

จันทร์ ๐๑ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๐๖
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย โดยการสนับสนุนจาก กลุ่มธุรกิจ โคคา-โคล่า ในประเทศไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส ประกาศความร่วมมือเร่งผลักดันให้มีการพิจารณาแก้กฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำขวดบรรจุเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ได้ในประเทศไทย โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสำรวจพฤติกรรมการใช้ขวดเครื่องดื่มพลาสติกของผู้บริโภคชาวไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการนำขวดเครื่องดื่มไปใช้หลังการบริโภคที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแล เก็บรวบรวม การผลิตและใช้ขวด rPET อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยที่ผู้บริโภคยังสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ขวด rPET ได้

นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายก และ ประธานกรรมการบริหาร ของ สมาคมอุตสาหกรรม

เครื่องดื่มไทย กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า "ในฐานะศูนย์กลางการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สมาคมฯ ตระหนักถึงบทบาทในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะในส่วนของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ซึ่งแม้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เครื่องดื่มต่างๆ ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสะอาด ปลอดภัย และได้คุณภาพมาตรฐาน แต่หากไม่ได้รับการจัดการหลังการบริโภคที่เหมาะสมแล้ว บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบในวงกว้างได้ ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จำเป็นต้องใช้ขวดพลาสติกที่ผลิตใหม่ทั้งหมด เนื่องจากกฎหมายห้ามไม่ให้นำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่กับบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ซึ่งข้อห้ามนี้ครอบคลุมถึงพลาสติกที่ผ่านการกระบวนการรีไซเคิลอย่าง rPET แล้ว อันทำให้สมาชิกของเราไม่สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ในส่วนนี้ลงได้"

ปัจจุบัน กฎหมายในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้ตื่นตัวถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการผลิตและใช้ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทยกันมากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปัจจุบัน ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า "ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก" ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการและแนวปฏิบัติในต่างประเทศเกี่ยวกับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นขวดเครื่องดื่มใหม่มาได้ระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะทำงานฯ มีความเห็นว่า การกำกับดูแลในส่วนนี้จำเป็นจะต้องมีการศึกษาสภาพปัญหาและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยอย่างแท้จริง จึงได้เห็นชอบให้ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รับหน้าที่เป็นผู้ศึกษาในเรื่องนี้ ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสมาชิกอันได้แก่ กลุ่มธุรกิจ

โคคา-โคล่า ในประเทศไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ตลอดจนพันธมิตรของสมาคมฯ คือ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นผู้ผลิตขวด PET รายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

รศ. ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ที่ปรึกษา ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย (TRAC) และที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก โดยสถานการณ์ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะขวดเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติก PET นั้น มีสมบัติที่ดีหลายประการ ทั้งทนทาน น้ำหนักเบา และราคาถูก

เราจึงพบว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งมักนำขวด PET เหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำหลังการบริโภคเครื่องดื่ม ซึ่งบางครั้งก็นำไปใส่น้ำยาทำความสะอาดหรือสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตราย อันอาจทำให้เกิดความกังวลในการนำขวดดังกล่าวมารีไซเคิลได้ ดังนั้นการจะอนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลในไทย จึงต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยการศึกษาข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้ทราบข้อมูลว่าความเสี่ยงในการปนเปื้อนมีมากน้อยเท่าใดและมีสารชนิดใดที่จำเป็นต้องมีการตรวจประเมินบ้าง โดยทีมวิจัยของสถาบันฯ นำโดย ผศ.ดร. ชนิพรรณ บุตรยี่ จะเข้ามาดำเนินการศึกษาในเรื่องนี้ ตลอดจนประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก rPET สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากประเทศชั้นนำที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลอย่างแพร่หลาย หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณา เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางการประเมินความปลอดภัยของเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET เพื่อนำมาผลิตเป็นขวดเครื่องดื่มใหม่ในไทยต่อไป"

นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวเสริมว่า "ในฐานะผู้ผลิตพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดของโลก อินโดรามา เวนเจอร์ส ตระหนักดีถึงบทบาทในการส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนและปลอดภัย เราสนับสนุนความร่วมมือครั้งนี้ เพราะเราเชื่อมั่นเช่นกันว่าบรรจุภัณฑ์ PET มีส่วนสำคัญในการทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ด้วยคุณสมบัตินี้เองจึงทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้อย่างกว้างขวาง และการใช้บรรจุภัณฑ์จาก rPET จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการต้องพึ่งพิงพลาสติกที่ผลิตใหม่แต่เพียงอย่างเดียว ในฐานะผู้ส่งออก rPET เราสามารถยืนยันได้ว่าเทคโนโลยีในการทำความสะอาดและกำจัดสิ่งสกปรกในกระบวนการรีไซเคิลในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก ได้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และหลายประเทศมีการใช้บรรจุภัณฑ์ผลิตจาก rPET อย่างปลอดภัยมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หลายประเทศในสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ฉะนั้น ประเทศไทยเองก็น่าจะได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเห็นด้วยว่าการพิจารณาแก้กฎหมายจะต้องดำเนินงานตามหลักวิชาการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะเกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน[1] และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกจัดเก็บ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนขวดพลาสติกที่เหลือต้องถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อม จนทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมลำดับต้นๆ ของโลกในปัจจุบัน การอนุญาตให้สามารถใช้ rPET ในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจึงเป็นหนึ่งในหลายๆ มาตรการที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้

"ความร่วมมือกันของผู้ผลิตเครื่องดื่มระดับแนวหน้าซึ่งอันที่จริงก็เป็นคู่แข่งกันในตลาด กับผู้ผลิตขวดพลาสติกระดับโลก และสถาบันการศึกษาชั้นนำถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงจุดยืนและความมุ่งมั่นที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น สมาคมฯ มั่นใจว่าหากการปรับเปลี่ยนกฎหมายตามแนวทางดังกล่าวแล้ว จะทำให้เกิดการตื่นตัวของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยครั้งใหญ่ และหวังว่าจะมีหลากหลายภาคส่วนเข้ามาให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนต่อไป" นายวีระ กล่าวสรุป

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เป็นการรวมกลุ่มของผู้ผลิตและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างสมาชิกหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอื้ออำนวยให้สมาชิกสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นผลประโยชน์ต่อสังคมและพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้เติบโตยิ่งขึ้น ปัจจุบัน สมาคมมีสมาชิก 44 บริษัท

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Bloomberg ticker IVL.TB) เป็นหนึ่งในบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำระดับโลก มีโรงงานผลิตครอบคลุมภูมิภาคหลักทั่วโลก ได้แก่ แอฟริกา เอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยมีกลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจ Integrated PET ธุรกิจโอเลฟินส์ ธุรกิจเส้นใย ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Chemicals) ผลิตภัณฑ์ของไอวีแอลรองรับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลส่วนบุคคล และอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางในรถยนต์และผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัย ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั่วโลกราว 19,000 คนและมีรายได้จากการขายรวม 10.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 บริษัทฯ เป็นสมาชิกดัชนีดาวโจนส์ (DJSI) และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทยและมีโรงงานทั่วโลก อันได้แก่

ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา:เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี เดนมาร์ก ลิทัวเนีย โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ลักเซมเบิร์ก สเปน ตุรกี ไนจีเรีย กานา โปรตุเกส อิสราเอล อียิปต์ รัสเซีย สโลวาเกีย ออสเตรีย

อเมริกา:สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก แคนาดา บราซิล

เอเชีย:ไทย อินโดนีเซีย จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์

[1] รายงานเกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่า หรือแวลูเชนของขวดพลาสติก PET และกระป๋องอะลูมิเนียม ในประเทศไทย โดย จีเอ เซอร์คูลาร์ (A report on Material Flow and Value Chain Analysis for PET Bottles and Aluminium Cans in Thailand by GA Circular)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version