นักวิชาการศึกษา ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพ ซึ่งได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ณ โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ กรุงเทพฯ
ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้อนุมัติให้ใช้หลักสูตรปวส. พ.ศ. 2557 และได้ดำเนินการประเมินผลการใช้หลักสูตรปวส.พ.ศ. 2557 แล้วนั้น โดยตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พ.ศ. 2556 ข้อ 17 ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษาและสถานศึกษาจัดให้มีการประเมินเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยทุก 5 ปี เพื่อให้มีเนื้อหาที่ทันสมัย ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้จะต้องดำเนินการทบทวนเนื้อหาสาระในหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานในงานอาชีพ มีสมรรถนะตรงตามมาตรฐานการศึกษาวิชาชีพของแต่ละสาขาวิชา เพื่อให้รองรับบริบทการจัดการอาชีวศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และทัดเทียมกับมาตรฐานสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบัดนี้ ได้ครบกำหนดที่จะต้องดำเนินการพัฒนาหลักสูตรปวส. โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะระดับปวส. พ.ศ.2562 แล้ว จำนวน 3 ครั้ง แบ่งเป็น 11 ประเภทวิชา ได้แก่ 1.ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ 2.ศิลปกรรม 3.คหกรรม 4.เกษตรกรรม 5.ประมง 6.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 7.อุตสาหกรรมสิ่งทอ 8. อุตสาหกรรม 9.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 10. พาณิชยนาวี และ 11. อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี รวมจำนวนทั้งสิ้น 92 สาขาวิชา ซึ่งในวันนี้ สอศ. โดยสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการบรรณาธิการกิจหลักสูตรระดับปวส. พ.ศ.2562 เพื่อพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขหลักสูตรปวส.พ.ศ. 2562 เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะนำหลักสูตรดังกล่าวไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยคาดว่าจะสามารถนำหลักสูตรดังกล่าวไปใช้ได้ในปีการศึกษา 2563 ต่อไป
"การประชุมในครั้งนี้จะทำให้ได้หลักสูตรปวส.พ.ศ. 2562 ที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ ตลาดแรงงาน ชุมชน และท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องเป็นไปตามแนวนโยบายการจัดการอาชีวศึกษา กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ทั้งนี้ อย่างไรก็ตาม อนาคตของชาติขอฝากไว้กับครูผู้สอนด้วย" รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวทิ้งท้าย