นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากการคาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ Spectrum-AEM คาดว่าในปี 2561 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 6,400 คน (เฉลี่ยวันละ 17 คน) ผู้เสียชีวิตเนื่องมาจากเอดส์ 18,000 คน (เฉลี่ยวันละ 49 คน) และมีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 คน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีเดียวกัน พบว่ามีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ได้รับการวินิจฉัย หรือรู้สถานะว่าตนเองติดเชื้อแล้ว 451,384 คน ดังนั้นคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอีกประมาณ 28,000 คน ที่ยังไม่รู้สถานะการติดเชื้อ และยังไม่ได้รับการรักษา ที่สำคัญคือสามารถส่งถ่ายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว
เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี สามารถรู้ผลได้ในวันเดียว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่รู้ตัวได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเร็วขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดให้ วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ตรวจเอชไอวี (Voluntary Counselling Testing Day : VCT Day) โดยกิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Know Your Status: เอชไอวี ตรวจฟรี ตรวจเร็ว เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี" เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักการรู้สถานะการติดเชื้อของตนเองได้เร็วขึ้น พร้อมที่จะดูแลสุขภาพและวางแผนการดูแลชีวิตต่อไป
สำหรับกิจกรรมรณรงค์ตรวจเอชไอวีในปีนี้ ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ 1.เอชไอวี ตรวจฟรี ตรวจเร็ว โดยให้คนไทยทุกคนที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก สามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้รวดเร็ว และแม่นยำ และควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัยหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ประมาณ 1 เดือน เมื่อทราบผลว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการปรึกษาเรื่องการป้องกัน การติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ต่อไป หากพบการติดเชื้อเอชไอวี จะได้เข้ารับการรักษาโดยเร็ว
2.เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี สำหรับการรักษาจะใช้ "ยาต้านไวรัส" หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้เริ่มกินยาเร็ว จะทำให้ไม่มีอาการป่วย ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี รวมถึงหากทานยาต้านไวรัสต่อเนื่อง จนสามารถกดไวรัสจะลดโอกาสถ่ายทอดเชื้อไปสู่คู่นอนและผู้อื่นได้ แต่หากเข้ารับการรักษาล่าช้า จะเริ่มป่วยและมีอาการของโรคแทรกซ้อนตามมา ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำเกิดโรคเรื้อรังได้ง่าย แล้วเชื้อเอชไอวีในร่างกายจะเพิ่มขึ้น จนถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปสู่คู่และผู้อื่นได้ ผู้มีเชื้อเอชไอวี สามารถเข้ารับบริการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ได้ "ฟรี" ทุกสิทธิ ผู้มีสิทธิประกันสุขภาพ (บัตรทอง) และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สามารถรักษาฟรี ทุกโรงพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลที่ระบุตามบัตร ส่วนสิทธิประกันสังคม สามารถรักษาฟรีในโรงพยาบาลที่ระบุตามสิทธิ
อย่างไรก็ตาม การทราบสถานะของตนเองในเรื่องการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ทุกคนมีสิทธิที่ตรวจโดยไม่ต้องเขินอาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน เพื่อยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายใน 11 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2573) เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดจำนวนผู้เสียชีวิต และลดการรังเกียจตีตราเรื่องเอดส์
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือกังวลเรื่องเอชไอวี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 สายด่วน สปสช. 1330 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422