ไม่เคยสูบบุหรี่ แต่ก็เป็นมะเร็งปอดได้ มาตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งก่อนจะสายเกินไป

พุธ ๐๓ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๐:๐๓
"บุหรี่" เป็นปัจจัยหลักของการเกิดโรคมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพอง อย่างไรก็ตามการสูบบุหรี่แม้เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด แต่ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว และมะเร็งปอดไม่ได้พบมากแต่ในผู้ชายเท่านั้น เห็นได้จากสถิติในปี 2018 จากการสำรวจของ World Cancer Research Fund International ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่เพิ่มถึง 2 ล้านคน และยังพบผู้หญิงป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด

ดร.นพ.ศุภชัย เอกวัฒนกิจ โรงพยาบาลศิริราช ได้กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดไว้ดังนี้ "ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักสูบบุหรี่ แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สูบบุหรี่แต่เป็นโรคมะเร็งปอด ดังนั้นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดไม่ใช่มาจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ เช่น การได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนข้าง ๆ ที่สูบบุหรี่ ซึ่งถือเป็นการรับเอาสารก่อมะเร็งจากควันบุหรี่ทางอ้อมแต่กลับส่งผลร้ายแรงไม่แพ้คนที่ได้รับจากการสูบบุหรี่โดยตรง การสูดแร่ไยหินที่เกิดจากเหมือง โรงโม่ หรืออู่ต่อเรือ การสัมผัสหรืออยู่ใกล้สารก่อมะเร็งประเภทต่าง ๆ เช่น แคดเมียม ซิลิกา ถ่านหิน ก๊าซเรดอน รวมถึงการสูดดมควันพิษหรือสัมผัสมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น ประสบปัญหาฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐาน ตัวอย่างเช่น สถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้

นอกจากนี้ยังรวมไปจนถึงการสูดดมควันธูปเป็นประจำ การดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนสารหนู และอีกหนึ่งความเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ คือ "มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด" ซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดยีนกลายพันธุ์หรือยีนที่ผิดปกติทางพันธุกรรมจากรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ไปสู่รุ่น ลูก หลาน จะเห็นได้ว่าแม้เราไม่สูบบุหรี่แต่ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน และเราทุกคนควรตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มากขึ้น ความน่ากลัวของมะเร็งปอด คือ การที่ไม่แสดงอาการจำเพาะในระยะเริ่มแรกจนทำให้บ่อยครั้งที่คนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติ เช่น ไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปน หอบหรือเหนื่อย ซึ่งอาจจะเป็นอาการที่บ่งบอกมะเร็งในระยะที่เกิดการลุกลามแล้ว"

นพ.ศุภชัย ยังได้ฝากถึงวิธีการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งปอดเพิ่มเติม "สำหรับคนปกติทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมเสี่ยงสูงเมื่ออายุ 55 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Low-dose CT) ปีละ 1 ครั้ง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก รวมถึงหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการอยู่ในสภาวะแวดล้อมเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 หรือมลพิษทางอากาศ และหากพบมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ควรเข้ารับการตรวจยีนเพื่อคัดกรองความเสี่ยงทางพันธุกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยง และวางแผนการตรวจคัดกรองให้ตรงจุดและเร็วขึ้น"

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีการตรวจที่เรียกว่า Next Generation Sequencing ที่สามารถช่วยตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูก จำนวนสูงสุด 52 ยีน กว่า 2,800 รูปแบบการกลายพันธุ์ ครอบคลุมมะเร็งมากกว่า 20 ชนิด ผลการตรวจยีนจะช่วยให้ทราบความเสี่ยงมะเร็งรายบุคคลที่ตรงจุดเสี่ยงและสามารถวางแผนการดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดควันพิษ หันมาตรวจสุขภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและตรงจุดเสี่ยง มะเร็งปอดป้องกันได้...อย่ารอจนอาจจะสายเกินไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO