ทีเอชนิค จัด "ค่ายแบ่งปั๋น" เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเว็บไซต์ให้คนรุ่นใหม่ในชุมชน หวังต่อยอดพัฒนาเป็นอาชีพหนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโต

พฤหัส ๐๔ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๐:๐๓
มูลนิธิทีเอชนิค เผยความสำเร็จจากการจัด "ค่ายแบ่งปั๋น" ที่จังหวัดตาก ด้วยการใช้หลักสูตรต้นแบบเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเว็บไซต์ให้คนรุ่นใหม่ในชุมชน ในรูปแบบกิจกรรมค่ายเพื่อการเรียนรู้และปฎิบัติ นำเสนอความเป็นชุมชนในโลกออนไลน์ ดร.พจนันท์ รัตนไชยพันธ์, ผู้อำนวยการมูลนิธิทีเอชนิค กล่าวว่า โครงการค่ายแบ่งปั๋นนี้จะถูกต่อยอดเพื่อจับคู่ความต้องการของหน่วยงานทั่วไปที่ต้องการใช้บริการด้านการพัฒนาเว็บไซต์ หรือบริการด้านไอที กับศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เยาวชนในชุมชน หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

ค่ายแบ่งปั๋น มีเป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ของจังหวัดหรือชุมชนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ และประชากรที่ย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่เหล่านี้มีศักยภาพในการให้บริการพัฒนาเว็บไซต์ หรือให้บริการทางด้านไอทีอื่น ๆ รวมทั้งสามารถพัฒนาเป็นอาชีพที่เลี้ยงตนเองได้ในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตข ก่อเกิดเป็นเครือข่ายผู้ให้บริการด้านไอทีในพื้นที่ที่สามารถร่วมกันรับงานจากพื้นที่อื่นได้

นางสาวศิรณัชชา วุฒิประพันธ์พงศ์, ผู้จัดการค่ายแบ่งปั๋น กล่าวว่า ค่ายนี้เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลายกว่า 40 คน เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ทั้งทางด้านเทคนิค และสร้างประสบการณ์จริงในการพัฒนาเว็บไซต์จากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านการสร้างเนื้อหา, การออกแบบและการถ่ายภาพ รวมไปถึงการจดทะเบียนชื่อโดเมน ตลอดจนการจัดการพื้นที่เว็บไซต์ ช่วงฝึกปฏิบัติและลงมือทำน้อง ๆ ได้เลือกเล่าเรื่องชุมชนในรูปแบบที่ตนเองสนใจ โดยสร้างเนื้อหาจากประสบการณ์ของตนเอง, ครอบครัว และประวัติของชุมชมจากมุมมองของคนในชุมชนเอง โดยนำเสนอออกมาเป็นเรื่องราวความเป็นอยู่ ประเพณีและวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว และอาหารประจำท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ

นางสาวสุธิมา เพ็ญเข็ม หรือ น้องหลิน, นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนตากพิทยาคม ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมค่ายแบ่งปั๋น กล่าวว่า ค่ายนี้สอนให้รู้ทั้งทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง ๆ จากคนที่ไม่เคยทำเว็บไซต์เลย พอได้เข้าค่าย ได้มาเรียน และทำเว็บไซต์ภายใน 2 วัน รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก ค่ายนี้มีอะไรให้เรียนรู้มากมาย ขอบคุณที่ให้โอกาสหนูได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ค่ะ

ค่ายแบ่งปั๋น จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนตากพิทยาคม จ.ตาก เมื่อวันที่ 21-23มิถุนายน 2562 โดยมีผลงานของเยาวชนชาวค่ายที่นำเสนอเรื่องราวของชุมชนผ่านสื่อออนไลน์จำนวน 5 เว็บไซต์ ได้แก่ บ้านห้วยปลาหลด.ไทย, หัวเดียด.ไทย, บ้านตาก.ไทย, บ้านท่าพระธาตุ.ไทย และ เที่ยววังหิน.ไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รวบรวมเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของโครงการ ผู้สนใจสามารถเข้าชมกิจกรรมของค่ายได้ที่เว็บไซต์ 'ค่ายแบ่งปั๋น.ไทย'

เกี่ยวกับมูลนิธิทีเอชนิค

มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ Thai Network Information Center Foundation (THNICF) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งเน้นการพัฒนาการใช้งานอินเทอร์เน็ต และโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการบริหารชื่อโดเมน .th มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และก่อตั้งเป็นมูลนิธิฯ เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยยังคงมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการใช้งานโดเมน .th รวมทั้ง .ไทย ทั้งยังสนับสนุนการศึกษา การวิจัย รวมถึงการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตไทย ในด้านเทคโนโลยี ความรู้ ความเร็วอินเทอร์เน็ต และการลดต้นทุนอินเทอร์เน็ตไทย

เว็บไซต์: มูลนิธิทีเอชนิค.ไทย หรือ thnic.or.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ