ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการจัดงาน FI Asia 2019 ซึ่งถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา ทั้งนี้ วว. ตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการทั่วเอเชียในอุตสาหกรรมอาหาร และต้องการผลักดันส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการอย่างแท้จริง เชื่อมั่นว่างาน Fi Asia จะเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่ผลักดันผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการทั่วเอเชีย ให้พัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่วนผสมอาหารจนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล
ทั้งนี้ วว.จะนำผลงานวิจัยและพัฒนาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ภายใต้แนวคิด "Green & Sustainable Food" ในรูปแบบการจัดบูธนิทรรศการ แสดงตัวอย่างสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ส่วนผสมอาหาร ที่เป็นผลงานของ วว. เพื่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วมชมงาน จะได้เห็นถึงภาพรวมและเข้าใจถึงบทบาทของ วว. ที่พร้อมช่วยให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งเน้นนำเสนอในกรอบการดำเนินงานและกระบวนการวิจัยพัฒนาที่ช่วยลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีกระบวนการสกัดสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ Zero Waste เพื่อจุดประกายให้ผู้ประกอบการ/Startup ได้เกิด Idea และต่อยอดให้เป็น Innovation มีความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจและการแข่งขัน พร้อมนี้จะมีการให้บริการอุตสาหกรรมและคำปรึกษาด้าน Food Safety , Food Ingredient, Total Solution แก่ผู้เข้าชมงานด้วย รวมทั้งมีการโชว์ชิมผลงานวิจัยและพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ทุกคนในสังคม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนี้
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดไร้กลูเตน โดย วว. นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารพิษ/ไร้กลูเตน/โปรตีนสูง ทดแทนเนื้อสัตว์ ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้แก่ผู้ประกอบการ และมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ คุ๊กกี้ น้ำพริกเผา น้ำปลาหวาน และจิ้งหรีด/สะดิ้งอบกรอบพร้อมทาน เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารกาบาสูง วว. ประสบผลสำเร็จศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสื่อประสาทสำหรับอาการนอนไม่หลับ โดยคัดเลือกวัตถุดิบที่มีปริมาณสารกาบาสูง ได้แก่ เมล่อน ใบชาแห้ง ข้าวกล้องงอก และมะเขือเทศ นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เครื่องดื่มชาเมล่อน โยเกิร์ตมันม่วง อาหารขบเคี้ยวจากข้าวกล้องงอกหอมมะลิ/ข้าวกล้องหอมมะลิแดงและข้าวไรซ์เบอรี่
เครื่องดื่มเจลลี่สมุนไพร มีส่วนประกอบของพืชและสมุนไพร ที่เป็นแหล่งของสารเมลาโทนินตามธรรมชาติ มีส่วนช่วยในการลดภาวะเครียดโดยการชักนำให้เกิดการพักผ่อน และป้องกันโรคที่มีสาเหตุจากภาวะเครียด ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเนื้อนิ่ม รสชาติที่เหมาะสมกับผู้บริโภคทุกวัย สามารถรับประทานได้ง่าย เหมาะกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และวัยทำงานหรือบุคคลที่มีภาวะโรคเครียดที่พบได้มากในสังคมปัจจุบัน โดยในประชากรกลุ่มผู้สูงอายุร่างกายจะสร้างสารเมลาโทนินลดลง และมักพบอาการนอนไม่หลับ ทำให้มีความจำเป็นต้องได้รับเมลาโทนินเพิ่มจากอาหารที่บริโภคเข้าไป และเนื่องจากอยู่ในรูปแบบเจลลี่ที่มีปริมาณน้ำน้อยทำให้สามารถรับประทานก่อนนอนได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเข้าห้องน้ำยามวิกาล
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบต้ากลูแคนจากเห็ด อยู่ในรูปแบบเม็ด ช่วยลดสภาวะปวด อักเสบของข้อที่เกิดจากอาการโรคเกาต์ และเป็นอีกทางเลือกในการบรรเทาอาการอักเสบที่เกิดเนื่องจากสภาวะของโรคเกาต์ สกัดสารสำคัญจากเห็ด 3 ชนิด ได้แก่ เห็ดหอม (มีฤทธิ์ลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการอักเสบ) เห็ดนางฟ้า (มีฤทธิ์เพิ่มการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอักเสบ) และเห็ดนางรม (มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในสภาวะปกติ)
นอกจากนี้ วว. ยังจะมีการบรรยายพิเศษเรื่อง "อาหารว่างเพื่อสุขภาพ : Healthy snacks" ให้แก่ผู้เข้าชมงานเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ ตามเกณฑ์พิจารณาให้สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" กลุ่มอาหารขบเคี้ยว ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 374 พ.ศ.2559
ผู้ว่าการ วว. กล่าวเน้นย้ำถึงศักยภาพความเข้มแข็งของ วว. เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารว่า วว. มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนและให้บริการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารมานานกว่า 30 ปี มุ่งวิจัยและพัฒนาด้านอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนผสมอาหารจากธรรมชาติ (Natural Functional Ingredients) รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplements) ผลิตภัณฑ์อาหารเชิงหน้าที่ (Functional Foods) จนถึงการผลิตสู่เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ วว. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้วยการให้บริการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ รับรองระบบคุณภาพและบริการ ตลอดจนการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร หรือ FISP ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP พร้อมห้องปฏิบัติการวิจัยพัฒนาและห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบคุณภาพในสายการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ผลไม้แช่อิ่มอบแห้ง ถือเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้พัฒนาต่อยอดธุรกิจ โดยให้บริการกับผู้ประกอบการสำหรับทดลองผลิตสินค้าในช่วงที่ผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่งจะเริ่มต้นกิจการ หรือในระยะรอการสร้างโรงงานของผู้ประกอบการ หรืออยู่ในช่วงของการทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมอาหาร วว. ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. โทร. 0 2577 9000/ 0 2577 9137 โทรสาร 0 2577 9009/ 0 2577 9137 E-mail : [email protected]