หลังจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้นำกลไก Talent Mobility ไปดำเนินงานและได้รับผลตอบรับจากทั้งบุคคลากรในมหาวิทยาลัย และสถานประกอบการที่ร่วมทำงานเป็นอย่างดี ประกอบกับจังหวัดอุตรดิตถ์ เห็นความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมและการผลิตกำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมในจังหวัด จึงได้เกิดความร่วมมือในการขยายผลโครงการ Talent Mobility ออกไปในวงกว้าง และเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และการทำงานในรูปแบบ 3 การประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ The 6th Engagement Thailand Annual Conference 2019 จึงมีการจัด 4 พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ประกอบด้วย ความร่วมมือ "การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม และสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม จังหวัดอุตรดิตถ์" โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ อุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ธนาคารวิสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคาร ออมสิน และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ร่วมลงนาม โดยมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศทั้งในด้านนวัตกรรมและด้านการผลิตกำลังคนตอบโจทย์อุตสาหกรรมของจังหวัด ความร่วมมือ "การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม และการบริหารจัดการกำลังคนในมหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม" เป็นการลงนามความร่วมมือเพื่อผนึกกำลังเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 10 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลย์สงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ให้มีความเข้มแข็งและสามารถทำงานเพื่อสร้างกำลังคนร่วมกันภายใต้กลไก Talent Mobility ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือ "การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม และการบริหารจัดการกำลังคนในมหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ" เป็นความร่วมมือระหว่าง สอวช. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และสมาคมไทยไอโอที ที่ สอวช. มีความมุ่งหมายที่จะเป็นผู้เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา และเครือข่ายภาคเอกชน ให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ที่มีความต้องการด้านกำลังคน ภายใต้กลไก Talent Mobility ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยจากความร่วมมือครั้งนี้ ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสด้านนโยบายนวัตกรรมการพัฒนากำลังคน สอวช. เปิดเผยว่า จากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจที่อาศัยแรงงานและการผลิตที่เน้นต้นทุนต่ำ ไปสู่เศรษฐกิจที่อาศัยการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีภาคเอกชนเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากหลากหลายสาขา เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคม โดยประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ และยังสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต อาทิ ภาคการเกษตร และอาหาร อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการยกระดับศักยภาพด้านการบริหารจัดการและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสการเติบโตสูงในอนาคต และยังถูกกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศอีกด้วย และเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอนาคต ที่จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของประเทศ ภาคมหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรม จึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ความร่วมมือระหว่าง สอวช. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และสมาคมไทยไอโอที จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมในด้านการบริหารจัดการกำลังคนของมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนากำลังคน การใช้ศักยภาพกำลังคน การเสริมศักยภาพกำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการและรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ นอกจากนี้ยังเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมอิล์กทรอนิกส์อัจฉริยะ ตลอดจนเพื่อเป็นการศึกษาวิจัยแนวทางการสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการกำลังคน และการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในภาคมหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏ และภาคอุตสาหกรรม
"สอวช. จะเข้าไปขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคมหาวิทยาลัยและภาคอุตาหกรรม ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการกำลังคน และการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของภาคมหาวิทยาลัย รวมถึงทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก สนับสนุนและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนด้านการบริหารจัดการกำลังคน และการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในมหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยแนวทางการสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการกำลังคน การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในภาคมหาวิทยาลัย กลุ่มราชภัฏและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนติดตามประเมินผลในภาพรวม ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม" ดร.พูลศักดิ์ กล่าว
สำหรับอีกหนึ่งการลงนามความร่วมมือ คือ ความร่วมมือ "การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม และการบริหารจัดการกำลังคน หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ" ระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ บริษัท กราวิเทคไทยแลนด์ จำกัด และบริษัท สมาร์ทไอดี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา กับสถานประกอบการ เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม