เปิดกรุแหล่งเรียนรู้จีน กับ ดร.เตช บุนนาค ผู้บุกเบิก “จีนศึกษา” และหนึ่งในบุคคลหน้าประวัติศาสตร์การเปิดความสัมพันธ์ไทย – จีน

ศุกร์ ๐๕ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๑:๐๘
พีบีไอซี มธ. เสนอชื่อ ดร.เตช บุนนาค รับ เข็มเกียรติยศ ประจำปี 2562 ในฐานะผู้อุทิศคุณูปการต่อการเรียนรู้จีนศึกษา

หากกล่าวถึงหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานและใกล้ชิดกับประเทศไทยมากที่สุด หลายคนคงนึกถึง "ประเทศจีน" แม้ว่าเหตุผลเริ่มแรกที่ทำให้ไทยพยายามริเริ่มความสัมพันธ์กับจีนจะเป็นเหตุผลทางการเมือง แต่หลังจากการเปิดความสัมพันธ์กับจีนอย่างเป็นทางการ ก็เกิดความร่วมมือต่างๆ ตามมา ส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศ และเนื่องในโอกาสวันที่

1 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 44 ปี ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย ได้เดินทางไปประเทศจีน ตามการเชื้อเชิญของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีน เพื่อลงนามในข้อตกลง "แถลงการณ์ร่วมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ" นับเป็นความสำเร็จทางการทูตของประเทศไทย ที่ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี เส้นทางของการเปิดความสัมพันธ์ไทยจีน มิได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย หากมองย้อนไปเมื่อ 44 ปีที่แล้ว จีนยังไม่เปิดประเทศอย่างเป็นทางการ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งดังเช่นปัจจุบัน ทั้งคนไทยที่รู้จักจีนอย่างลึกซึ้งมีจำนวนน้อยมาก การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประเทศยังคงเป็นเรื่องยาก อีกทั้งไทยและจีน ยังมีความแตกต่างกันทั้งด้านอุดมการณ์ ระบอบการปกครองและเศรษฐกิจ การที่จะริเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลรอบด้านอย่างจีน นอกจากคณะผู้แทนทางการทูตไทยจะต้องมีความสามารถในการเลือกใช้วิธีการทางการทูต และการเจรจาต่อรองที่เหมาะสมแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการรู้จักจีนอย่างลึกซึ้ง ผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมา ลักษณะของสังคม วัฒนธรรม รวมถึงภาษาของประเทศนั้นอย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นสะพานไปสู่การสานความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

บทความนี้จะพาไปย้อนรอยการเรียนรู้เรื่องจีน ในยุคที่แหล่งเรียนรู้เรื่องจีนศึกษายังหาได้ยากในประเทศไทย ผ่านบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์การทูตไทยอย่าง ดร.เตช บุนนาค หนึ่งในคณะทำงานที่มีบทบาทไปเจรจาเปิดความสัมพันธ์ไทย – จีนและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 5 และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นับเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการการศึกษาเรื่องจีนตั้งแต่ยุคบุกเบิกความสัมพันธ์

การเรียนรู้จีน ก่อนประเทศไทยจะมี "จีนศึกษา"

ในยุคเปิดความสัมพันธ์กับจีน ดร.เตช บุนนาค ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองเอเชียตะวันออก กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นคือ นายชาติชาย ชุณหะวัณ การทำงานราชการในขณะนั้น ทำให้ท่านมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กับข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งบุคคลต่างๆ ใน

แวดวงความสัมพันธ์ไทยจีน ที่มีโอกาสได้เรียนรู้และสัมผัสกับประเทศจีน อีกทั้งตัวท่านยังเป็นหนึ่งในคณะทูตกีฬา หรือการทูตที่ใช้ประชาชนเป็นสื่อกลาง ซึ่งเป็นกลยุทธ์การทางการทูตแบบลับที่ไทยใช้ไปสู่การเปิดความสัมพันธ์กับประเทศจีน ทำให้ท่านมีประสบการณ์การเดินทางไปเยือนจีน เพื่อศึกษาความเป็นจีนด้วยตัวของท่านเอง นอกจากนี้ท่านยังสนใจศึกษาประวัติศาสตร์จีนผ่านหนังสือ ซึ่งในยุคนั้นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับจีนหาได้ยากมาก มีเพียงหนังสือที่เป็นภาษาจีน และภาษาอังกฤษที่มีผู้แปลจำนวนไม่มาก ส่วนหนังสือความรู้เกี่ยวกับจีนที่เป็นภาษาไทย นับว่าแทบไม่มีเลย เพราะในยุคนั้นยังไม่มีผู้บุกเบิกการเรียนรู้เกี่ยวกับจีน

"45 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานราชการที่เกี่ยวกับประเทศจีน การเรียนรู้เกี่ยวกับจีน แบบจีนศึกษายังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย การเรียนรู้แบบจีนศึกษาต้องค้นคว้าด้วยตัวเองเท่านั้น แตกต่างจากในปัจจุบัน ที่มีแหล่งเรียนรู้ด้านจีนศึกษามากมาย เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่อย่างมาก"

จากผู้เริ่มเรียน สู่ผู้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์

ดร.เตช บุนนาค ยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่บนหน้าประวัติศาสตร์การลงนามเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและจีน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 โดยท่านทำหน้าที่เป็นผู้ยื่นเอกสารการสถาปนาความสัมพันธ์ให้นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ ปราโมช ตามคำขอของท่านทูตอานันท์ ปันยารชุน เนื่องจากเห็นว่าท่านมีบทบาทในการเจรจาความสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จทางการทูตของประเทศไทย ในการเปิดความสัมพันธ์ไทยจีนอย่างเป็นทางการ เป็นหนึ่งในผลงานที่ท่านภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ทำให้ท่านเห็นความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ผ่านการเขียนบันทึก "สถาปนาความสัมพันธ์ไทย – จีน 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 : ประสบการณ์ของนักการทูต" อีกทั้งยังอุทิศตนเป็นแหล่งข้อมูลชั้นต้น ที่พร้อมจะรื้อฟื้นความทรงจำครั้งทำงานทางการทูตกับประเทศจีน ให้คนรุ่นหลังที่สนใจได้เรียนรู้

"เราต่างก็แก่ตัวลงทุกวัน ถ้าไม่บันทึกเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นไว้เป็นหลักฐาน ผ่านการบอกเล่า หรือเขียนบันทึก อีกหน่อยก็จะหาบันทึกและข้อมูลในช่วงประวัติศาสตร์นี้ยากขึ้นทุกวัน..."

สู่แหล่งเรียนรู้ด้านจีน เพื่อคนรุ่นใหม่

หากพูดถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับจีนในปัจจุบัน นับว่ามีแหล่งเรียนรู้ด้านจีนศึกษาเกิดขึ้นจำนวนมาก หากเทียบกับในยุคบุกเบิกการเรียนแบบจีนศึกษา อีกทั้งสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับจีนในสมัยนี้ มีความหลากหลาย และมีรูปแบบที่น่าสนใจ ไม่จำกัดอยู่แค่ในรูปแบบหนังสือ แต่ยังมีแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ให้ผู้ที่สนใจได้สืบค้นได้ทุกเมื่อ ถือเป็นเรื่องดีต่อวงการจีนศึกษา ในประเทศไทย โดยล่าสุด ดร.เตช บุนนาค ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์" (Pridi Banomyong Learning Center) แหล่งเรียนรู้ด้านจีนศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่าพระจันทร์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาในหลักสูตรจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และประชาชนทั่วไป

"ถึงแม้ว่าสื่อการเรียนรู้ในปัจจุบัน จะพัฒนาไปอยู่ในรูปแบบของสื่อการเรียนรู้ออนไลน์มากขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว การอ่านเรื่องราวต่างๆ จากหนังสือ ยังคงรูปแบบการเรียนรู้ที่คลาสสิกเสมอ"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาประเทศจีนอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน หรือที่เรียกว่า "จีนศึกษา" ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศไทย โดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) ได้เปิดหลักสูตรจีนศึกษา (Chinese Studies) ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจีน ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ภาษาและวัฒนธรรม หลักสูตรดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐไทยและจีน สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และบุคคลในแวดวงความสัมพันธ์ไทยจีน อาทิ การส่งเสริมด้านบุคลากรผู้สอนหลักสูตรจีนศึกษา ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีน โดยนักศึกษาจีนศึกษา พีบีไอซี จะมีโอกาสได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่ประเทศจีน เมื่อศึกษาในระดับชั้นปีที่ 3 และล่าสุด

พีบีไอซีได้เปิด "ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์" (Pridi Banomyong Learning Center) ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านจีนศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย มีหนังสือในหมวดหมู่ต่างๆ เกี่ยวกับจีนกว่า 2,000 เล่ม เพื่อให้นักศึกษาจีนศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศจีน ได้มีแหล่งค้นคว้าที่สะดวกและครบครัน

"ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์" (Pridi Banomyong Learning Center) ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยมี ดร.เตช บุนนาค เป็นหนึ่งในผู้บริจาคหนังสือเกี่ยวกับจีน และร่วมคัดเลือกหนังสือที่มีความน่าสนใจเกี่ยวกับจีน มาไว้ในห้องสมุดดังกล่าว ด้วยความมุ่งหวังที่จะเห็นคนรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับจีนอย่างลึกซึ้งจากแหล่งเรียนรู้ที่ท่านมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง อีกทั้งมุ่งหวังว่าการเรียนรู้แบบ "จีนศึกษา" ในประเทศไทย จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และประสบความสำเร็จดังที่ท่านได้เคยไปเจรจาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 44 ปีที่ผ่านมา ด้วยคุณูปการดังกล่าวที่ท่านได้อุทิศให้แก่หลักสูตรจีนศึกษา พีบีไอซี ตลอดจนเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญ ผู้ริเริ่มการเปิดความสัมพันธ์ไทย – จีน มหาวิทยาลัยจึงพิจารณามอบเข็มเกียรติยศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2562 ให้แก่ ดร.เตช บุนนาค โดยการเสนอชื่อของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย และต่อสังคมอย่างมหาศาล ผศ.ดร. นิธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทั้งแง่มุมเศรษฐกิจ การเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ใน

อาณาบริเวณศึกษาเฉพาะที่น่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือไทย ด้วยการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ และโอกาสที่จะได้ศึกษาแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชื่อดังในต่างประเทศ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version