นายประสงค์ กล่าวต่อไปว่าจากสถานการณ์น้ำข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะฝนทิ้งช่วงย่อมมีปัญหาต่อการปลูกข้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามกรมการข้าวได้มีงานวิจัยการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในการทำนา พบว่า สามารถช่วยประหยัดน้ำได้ถึงร้อยละ 30-50 ขึ้นอยู่กับชนิดของดินและสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการทำนาแบบให้น้ำขังตลอดฤดูปลูกซึ่งเป็นวิธีปกติของชาวนาทั่วไปจะต้องใช้น้ำประมาณ 1,200 ลบ.ม./ไร่/ฤดู อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสูบน้ำได้ 30% นอกจากนี้ในสภาพดินแห้ง รากข้าวได้รับอากาศสามารถแตกรากข้าวใหม่มากขึ้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้น ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น ทนต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวได้ดีขึ้น เป็นผลให้ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูข้าวอีกทางหนึ่ง
ขั้นตอนของการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว มีดังนี้ 1) การเตรียมดิน 2) ปรับให้พื้นที่สม่ำเสมอ 3) ปลูกข้าว (หว่าน ปักดำ หรือหยอด) 4) ถ้าปลูกด้วยวิธีการหว่าน หลังหว่านข้าวให้ระบายน้ำให้แห้งเพื่อให้เมล็ดข้าวงอกสม่ำเสมอ พ่นสารคุม-ฆ่าวัชพืชหลังหว่านข้าว 10 วัน และเอาน้ำเข้าแปลงหลังพ่นสารภายใน 2 วัน ประมาณ ครึ่งต้นข้าว รักษาระดับน้ำไว้จนถึงช่วงการใส่ปุ๋ยรองพื้น 5) เมื่อข้าวอายุ 20-25 วันให้ใส่ปุ๋ยรองพื้น 6) หลังจากหว่านปุ๋ยรองพื้น ปล่อยน้ำในนาให้แห้งไปโดยธรรมชาติจนน้ำอยู่ที่ระดับ 15 เซนติเมตรใต้ผิวดิน สูบน้ำเข้าแปลงจนระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน จากนั้นปล่อยน้ำให้แห้งไปตามธรรมชาติ ทำสลับกันไปจนถึงช่วงการใส่ปุ๋ยแต่งหน้า ที่ระยะกำเนิดช่อดอก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าระยะข้าวแต่งตัว 7) ใส่ปุ๋ยแต่งหน้า และรักษาระดับน้ำในแปลงให้อยู่ที่ 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน จนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 10 วัน จึงปล่อยให้แปลงแห้งเพื่อให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว
เพื่อความสะดวกในการดูระดับน้ำ ให้ติดตั้งท่อดูน้ำ 1-2 จุด ในแปลงนา (ท่อดูระดับน้ำเป็นท่อพีวีซีขนาดความยาว 25 ซม.เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว เจาะรูด้วยสว่านเส้นผ่านศูนย์กลางหุนครึ่งถึงสองหุน 4 - 5 แถวรอบ ๆ ท่อ แต่ละรูห่างกัน 5 ซม. ฝังลงไป 20 ซม. ให้ปากท่อโผล่ขึ้นพ้นผิวดิน 5 ซม.)
เพื่อให้เกษตรกรผลิตข้าวในสภาวะน้ำชลประทานมีจำกัดให้เกิดประโยชน์และประสิทธิสูงสุด กรมการข้าว มีเป้าหมายส่งเสริมแก่เกษตรกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องไม่เฉพาะในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเท่านั้น เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปต้องรณรงค์ให้ใช้อย่างประหยัดรู้ค่าเพื่อความมั่นในอนาคต ชาวนาที่สนใจหรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยข้าวหรือศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวใกล้บ้านท่าน