นายเศกสรรค์ เรืองโวหาร ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวเปิดการสัมมนา "พลังขับเคลื่อน SMART SMEs เติบโตอย่าง Strong" ว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ ต้องการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอีที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ทั้งในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งจะช่วยสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้กับประเทศในระยะยาว
ภายในงานได้เชิญหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ มาร่วมให้ความรู้ผู้ประกอบการ จำนวนกว่า 200 คน
"การก้าวพ้นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ประชากรจะต้องมีรายได้ 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4 แสนบาทต่อคนต่อปี ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายนั้น ต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน เพื่อยกระดับความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง" นายเศกสรรค์กล่าว
ดังนั้น การจะทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางและเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น บีโอไอจึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนผลักดันเป้าหมายดังกล่าว ผ่านการส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในห่วงโซ่การผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ไม่ใช่แค่การเป็นฐานการผลิตที่ใช้แรงงานราคาถูกเหมือนในอดีต
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าบีโอไอให้ความสำคัญและให้สิทธิประโยชน์สูงสุดแก่โครงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา และการลงทุนในอุตสาหกรรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง อุตสาหกรรมเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
นอกจากนี้ การพัฒนาแบรนด์ ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จระดับโลกจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงทั้งสิ้น อาทิ แบรนด์ แอปเปิ้ล จะให้ความสำคัญกับการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม และพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้กับสินค้าและบริการนั้น
ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564) บีโอไอได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมวางทิศทางการส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะใน 4 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุ และดิจิทัล นอกจากนี้ ยังบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ผ่านการส่งเสริมสหกิจศึกษา ระบบทวิภาคี และดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ผ่านระบบ SMART Visa เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บีโอไอมุ่งส่งเสริมด้วยการให้สิทธิประโยชน์ที่สูงและผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการลง รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่กับเอสเอ็มอีไทย ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อช่วย ลดต้นทุนการผลิต
ในงานสัมนาดังกล่าว ยังมีวิทยากรร่วมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าและบริการ ผ่านการเสวนา เรื่อง "เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ SMART SMEs เติบโตอย่าง Strong" โดยอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ฟู้ด แพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์บาร์บีคิว พลาซ่า บริษัท โอคุสโน่ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์คางกุ้ง แบรนด์ "โอคุสโน่" และบริษัท เนอเชอร์แคร์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ "Reis Care"