มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2562 จะมีมูลค่าประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท โดยเป็นการบริโภคภายในประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และเป็นการส่งออก 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีประเทศคู่ค้าหลักเป็นกลุ่มอาเซียน รองลงมาได้แก่กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ, แอฟริกา, สหภาพยุโรป และโอเชียเนีย โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 14 ของโลกในปี 2560 และเมื่อพิจารณาจากมูลค่าส่งออกอาหารในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่า ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.36 จากร้อยละ 2.34 ในปีก่อนหน้า ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่เช่น สหรัฐฯ, บราซิล และจีน ต่างมีส่วนแบ่งตลาดโลกลดลง ส่วนประเทศผู้ส่งออกอาหารที่สำคัญในภูมิภาคอย่างอินเดียและเวียดนาม ต่างมีส่วนแบ่งตลาดโลกลดลงเช่นกัน
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ บริษัท อินฟอร์มาร์ พีแอลซี ประเทศอังกฤษ เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากทั้งปัจจัยของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยความเป็น 'ดิจิทัล' ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มของทุกอย่างในปัจจุบัน นำไปสู่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม ผู้ประกอบการในวงการนี้จึงต้องปรับตัวและอยู่ให้รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง โดยการตามกระแสไปกับเทคโนโลยี นวัตกรรม เทรนด์การรักษ์โลก และความนิยมของการดูแลสุขภาพ
"ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของไทย ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันนานาประเทศก็กำลังมุ่งเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยความหวังว่าจะสามารถช่วงชิงพื้นที่ตลาด ผู้ประกอบการด้านอาหารจึงต้องปรับตัว จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่มีส่วนสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด อัพเดตตนเองได้ไวที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาสินค้า บริการ และแพลตฟอร์ม เพื่อตามให้ทันต่อยุคสมัยและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย เป็นภาคส่วนที่ขับเคลื่อนให้ GDP ในปี 2560 มีการขยายตัวขึ้น รวมไปถึงการสร้างมูลค่าการส่งออกของภาคเกษตรที่น่าจับตามอง โดยมีมูลค่า 6,551,718 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 และมีสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศคิดเป็นร้อยละ 42.4 ส่วนสตาร์ทอัพด้านอาหารของไทยเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนมากที่สุดในธุรกิจสตาร์ทอัพของทั้งประเทศ โดยคิดเป็น 14% ของการลงทุน
ด้าน ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ให้ความเห็นว่า เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมาจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ การใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ เกษตรกรรมในเมือง และเกษตรกรรมแบบยั่งยืน รวมไปถึงการจัดการผลิตผลเกษตรแบบครบวงจร จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย นวัตกรรมเกษตรจึงเป็นเกษตรกรรมยุคใหม่ที่จะมีบทบาทมากขึ้นและถือว่าเป็นเกษตรกรรมของอนาคตอย่างแท้จริง ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพดีย่อมมีต้นกำเนิดมาจากแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น การสนับสนุนให้ภาคเกษตรกรรมไทย ผลิตวัตถุดิบต้นทางได้อย่างมีมาตรฐานโดยนำ STI (องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม) เข้ามาใช้อย่างจริงจัง ย่อมการันตีได้ว่าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจะมีคุณภาพที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตผลเกษตรของโลกต่อไป
สอดคล้องกับการจัดโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มครั้งที่ 2 ซึ่งจะประกาศผลผู้ชนะเลิศภายในงาน Fi Asia 2019 โดยได้รับความร่วมมือจาก 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำในการแนะแนวและผลักดันให้เกิดชิ้นงานที่ต่อยอดทางธุรกิจได้จริง โดย ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ ธรรมวิถี รองคณบดี คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี Comparative advantage สำคัญ 2 ประการ คือ Biodiversity and Cultural diversity ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและความได้เปรียบเหนือผู้ประกอบการประเทศอื่น ๆ ที่อาจไม่มี หรือมีเพียงบางปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอาหาร เพราะอาหารไม่เพียงแต่รับประทานเพื่อความจำเป็นต่อร่างกายเท่านั้น ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนผ่านทางอาหารได้อย่างน่าอัศจรรย์อีกด้วย ซึ่งการบริโภคอาหารที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงแค่ 1 ในปัจจัย 4 นั่นหมายถึงรับประทานในฐานะอาหาร แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ผู้คนสนใจอาหารในฐานะของ "ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพ" ในด้านการป้องกัน (Prevention) เพราะในปัจจุบันเราจะเห็นคนสนใจการออกกำลังกาย รักษาสุขภาพกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในเมื่อความคาดหวังของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากการ "กินเพื่ออิ่มอร่อย" มาเป็น "กินเพื่อสุขภาพที่ดี" นั่นคือสิ่งที่กำลังบอกผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ว่าคุณค่าที่เราจะส่งมอบนั้นมีค่ามากมายมหาศาลมากเพียงใดกับผู้บริโภค และนั่นคือคำตอบว่าเหตุใดเกษตรและอาหารของไทยถึงต้องได้การยอมรับในระดับโลก
ด้านผศ. ดร. ชุติมา ไวศรายุทธ์ รองคณบดียุทธศาสตร์แบรนด์และธุรกิจสัมพันธ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวปิดท้ายว่า ทิศทางต่อไปของสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีด้านอาหารและเครื่องดื่มของไทยคือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับที่เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้า เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับนักลงทุนและดึงความสนใจจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ขณะที่ภาคเกษตรกรรมในปัจจุบันต้องมีการปรับตัว และคำนึงถึงการจัดการทรัพยากร การใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเพื่อควบคุมการผลิต แนวคิด smart farm จึงเป็นการจัดการเกษตรสมัยใหม่เพื่อยกระดับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อความยั่งยืนของไทยในอนาคต นอกจากนี้ภาคเกษตรกรรมต้องปรับตัวโดยมีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเกษตรกรรม เช่น ริเริ่มการสร้างแบรนด์ของตนในฐานะวัตถุดิบต้นทาง หาทางเลือกใหม่ให้กับสินค้าเพื่อพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ที่จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการช่วยส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรได้ในปัจจุบัน
งาน Fi Asia 2019 จะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา ภายในงานครบครันด้วยการจัดแสดงนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มอย่างครบวงจร ด้วยการตอบรับเข้าแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการชั้นนำกว่า 750 บูธ จาก 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังมีส่วน Innovation Zone ที่จัดแสดงนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มจากเทรนด์อาหารที่น่าสนใจ พร้อมการประกาศผลการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fiasia.com/Thailand