กรมปศุสัตว์ - ซีพีเอฟ ผนึกกำลังป้องกัน "อหิวาต์แอฟริกาในสุกร" ส่งมอบศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค จ.เชียงราย

พุธ ๑๐ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๘:๐๓
อ.เชียงแสน จ.เชียงราย - นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ด่านกักกันสัตว์เชียงราย สาขาเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งครบ 5 จังหวัดชายแดน ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยมี นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ และผู้บริหารบริษัทซีพีเอฟ ร่วมส่งมอบศูนย์ฯ แก่ นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย

น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ด่านกักกันสัตว์เชียงราย เป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดชายแดน ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดเชียงราย ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการระบาดของเชื้อโรคเข้ามาในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าโรค ASF จะไม่มีผลกระทบกับคน แต่เป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงในสุกร ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ต้องทำลายหมูทิ้งอย่างเดียว และศูนย์ฆ่าเชื้อยานพาหนะ ที่ด่านเชียงแสน มีความพิเศษตรงที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนถ่ายสินค้าปศุสัตว์จากเรือที่มาจากประเทศเมียนมา ลาว และจีน ซึ่งสองประเทศหลังมีการพบการระบาดของโรค ASF แล้ว

"กรมปศุสัตว์ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนรวมทั้ง ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์ฯ 2 แห่งคือที่เชียงรายและมุกดาหาร ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการระบาดของโรค ASF ที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพของเกษตรกร ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มโอกาสให้กับภาคปศุสัตว์ของไทยอีกด้วย" น.สพ.สรวิศกล่าว

ทางด้าน นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอเชียงแสน กล่าวว่า เชียงราย มีอาณาเขตติดกับ สปป.ลาว โดยทางแม่น้ำโขง และสะพานเชื่อมถึงกัน ขณะที่ภายในจังหวัดเชียงราย มีผู้เลี้ยงสุกรประมาณ 7,000 ราย มีสุกรรวมกันประมาณ 144,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่ได้มาตรฐาน แต่ก็ยังมีรายย่อยที่อาจมีความเสี่ยงและหากเกิดโรคจะทำให้เสียหาย จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการตั้งศูนย์ฯ ที่ชายแดนดังกล่าว

นายวิรัตน์ ตันหยง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงผลกระทบของโรคระบาด ASF ที่จะมีต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม ซีพีเอฟ จึงสนับสนุนงบประมาณสร้าง ศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ 2 แห่ง ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และที่จังหวัดมุกดาหาร รวมเป็นมูลค่าเกือบ 4 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจและมีความรู้เรื่อง ASF เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรค ASF และโรคระบาดอื่นๆ ที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

น.สพ. ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟยังให้ความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายของการรับรู้ข่าวสารในเรื่องของโรค ASF ระหว่างผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ผู้เลี้ยงในโครงการคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง กรมปศุสัตว์ และผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่โรคระบาดเกิดขึ้นในประเทศ สามารถเข้าไปจัดการกับสุกรที่ติดโรค และควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงกระบวนการจัดการชดเชยเพื่อให้สามารถยุติการแพร่ระบาดโรคให้เร็วที่สุด./

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ