อุตสาหกรรมชีวภาพเชิงการแพทย์ไทยมาแรง บีโอไอหนุนวินเซลล์ รีเซิร์ช สู่ผู้นำเทคโนโลยีเซลล์บำบัด

พฤหัส ๑๑ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๑:๓๑
บีโอไอไฟเขียวอนุมัติให้บริษัท วินเซลล์ รีเซิร์ชได้รับส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หลังเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมการแพทย์เพาะเลี้ยงและผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยกระดับวงการแพทย์ไทย

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายของบีโอไอว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนโครงการเพาะเลี้ยงและผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพของบริษัท วินเซลล์ รีเซิร์ช จำกัด โดยมีกำลังการผลิตปีละ 1,500 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาด้านเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immune Cell Therapy) เพื่อใช้รักษาโรคมะเร็ง และซ่อมแซมอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงการตรวจวิเคราะห์ยีนส์

สำหรับกิจการเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการลงทุน เนื่องจากเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยในช่วง 3 ปี ระหว่างปี 2559 - 2561 กิจการเทคโนโลยีชีวภาพได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 18 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 16,445 ล้านบาท

ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเข้ารับการรักษาในระยะที่มีการลุกลามหรือการกระจายตัวของโรคแล้ว แพทย์จึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาโดยการผ่าตัดหรือการฉายแสง และการให้ยาเคมีบำบัดสำหรับการรักษาโรคที่มีการกระจายออกไปในร่างกาย โดยแนวทางการรักษาของบริษัท วินเซลล์ รีเซิร์ช จำกัด คือ การนำเซลล์ภูมิคุ้มกันแบบผสมผสานที่ชื่อว่า WIN – K CELL เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายมีความแข็งแรงและคืนความสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันโรคในการกำจัดหรือยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งการรักษาในรูปแบบดังกล่าวสามารถทำร่วมกับการผ่าตัด การฉายรังสีและวิธีการอื่นๆ โดยไม่เกิดอาการข้างเคียง และลดการเกิดมะเร็งซ้ำมากกว่าวิธีการอื่น ๆ

ที่ผ่านมาบริษัทได้รับอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้ในการสร้างห้องวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และยังได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) อีกด้วย โดยแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาของบริษัท วินเซลล์ รีเซิร์ช จำกัด คือการผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาโรคมะเร็งและอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งรูปแบบจะเหมือนกับการผลิตยา แต่แยกหมวดออกไปเป็นยาทางด้านชีววัตถุ ปัจจุบันยาดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทได้สร้างศูนย์วิจัยในซอยสุขุมวิท 70 เริ่มเปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2562 เพื่อให้เป็นสถานที่รักษาระดับเซลล์แห่งแรกของภาคเอกชน โดยบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาบุคลากรไทยให้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โครงการดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ประเภทกิจการเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งเป็นประเภทกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูง เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้ฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งของประเทศ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการจัดตั้งหน่วยงานด้านการวิจัยโดยร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อวิจัยและพัฒนา ให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่ดีและค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการพัฒนาธุรกิจต้นน้ำทางด้านนี้ ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ