สวรส. ยกระดับความรู้ สู่รูปธรรมสร้างสุขภาพดี ณ ที่นี่ “ที่ชุมชน”

พฤหัส ๑๑ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๖:๐๒
ประเทศฟินแลนด์ ประเทศที่ประชาชนมีสุขภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในช่วงทศวรรษที่ 70 ประเทศฟินแลนด์มีผู้ป่วยโรคหัวใจเป็นอันดับหนึ่งของโลก จนทำให้รัฐบาลต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยการต่อสู้กับภาวะคุกคามทางสุขภาพในขณะนั้น ไม่ใช่การแถลงการณ์นโยบายหรือการให้ความรู้เรื่องการลดคอเลสเตอรอลแก่ประชาชน เพราะทุกคนรู้ดีอยู่แล้วแต่พวกเขาต้องคิดและเริ่มทำการลดคอเลสเตอรอลด้วยตนเอง โดยเคล็ดลับความสำเร็จของประเทศฟินแลนด์นั้นอยู่ที่รัฐบาลมีความเข้าใจและเลือกใช้เครื่องมือการตลาดเพื่อสังคมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเทคนิคจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายยอมรับ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลิกหรือทำบางอย่างโดยสมัครใจ ภายใต้เป้าหมายเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การเริ่มต้นในเวลานั้นของฟินแลนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยรัฐบาลไม่ได้มีเงินสนับสนุนมากพอเหมือนกับการลงทุนทางการตลาดของภาคธุรกิจ และฟินแลนด์ยังมีนโยบาย สภาพสังคมและวัฒนธรรมความคิดความเชื่อในอดีต เช่น เกษตรกรจะมีรายได้จากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณไขมันจำนวนมาก ความเชื่อของชายฉกรรจ์ที่ไม่บริโภคผักเพราะคิดว่านั่นคืออาหารสำหรับกระต่าย กลยุทธ์การเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฟินแลนด์นำมาใช้อย่างหลากหลายในตอนนั้น เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎหมายครั้งใหญ่ เริ่มจากห้ามโฆษณาบุหรี่ ปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรรับค่าตอบแทนจากผลิตภัณฑ์ตามปริมาณโปรตีนมากกว่าไขมัน การกระจายเงินสนับสนุนไปที่ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่คนในท้องถิ่นชอบทำ การแทรกแซงระดับบุคคลโดยส่งทีมงานเข้าไปในผับเพื่อพูดคุยถึงกิจกรรมอื่นที่สนใจนอกเหนือจากการเข้าผับ การผสานเรื่องออกกำลังกายเข้าไว้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น การขี่จักรยานไปทำงาน โดยรัฐได้เพิ่มทางเดินเท้าหรือเส้นทางสำหรับขี่จักรยาน ซึ่งได้เปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนไปพร้อมกันด้วย หรือการสนับสนุนให้เอกชน ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานรัฐอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในระดับต่างๆ เป็นต้น

จากวิธีการดังกล่าวให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยได้รับรายงานว่า ผู้ชายที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงอย่างน้อย 65% และผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดก็ลดลงใกล้เคียงกัน ประชาชนมีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น และคาดว่าผู้ชายฟินแลนด์มีอายุยืนขึ้น 7 ปี และผู้หญิง 6 ปี เมื่อเทียบกับอายุขัยเฉลี่ยก่อนที่รัฐจะเริ่มทำการนี้

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่ากลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCD) นับเป็นปัญหาสำคัญของระบบสุขภาพไทย การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ คิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยกว่า 501,000 รายในปี พ.ศ. 2557 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ตัวเลขประมาณการการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ในสังคมไทยอยู่สูงถึง 2.8 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2556 การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพียงอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 29 ในขณะที่การเสียชีวิตจากโรคติดต่อ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตรและภาวะทุพโภชนาการรวมกันคิดเป็นร้อยละ 18 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ภาระโรคที่หนักที่สุดจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปและแนวคิดเรื่องการบริโภคนิยมนับเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคดังกล่าว สำหรับสาเหตุซึ่งเป็นปัจจัยด้านลบอื่นๆ ได้แก่ การขาดการควบคุมและป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพ หรือการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปัจจัยด้านพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่และการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ เช่น การรับประทานอาหารแปรรูป อาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง การสูบบุหรี่ การบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง การรับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ขาดการเคลื่อนไหวและกิจกรรมทางกาย ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ความชุกของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเพิ่มสูงขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อทั้งสิ้น

ทางด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า พฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนมีความสำคัญมากกับการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสทางสุขภาพด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะ รูปแบบบริการสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เครือข่ายทางสังคม และข้อมูลข่าวสารเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข จึงได้ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนเข้ามามีบทบาทในทุกขั้นตอนของการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อในฐานะที่ อปท. มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดูแลสุขภาพของประชากรในขอบเขตที่รับผิดชอบ และ สวรส. ในฐานะหน่วยงานวิจัย สร้างและจัดการความรู้ ขอส่งมอบองค์ความรู้จากงานวิจัยให้แก่ชุมชน สอดคล้องกับบริบทของชุมชนและแนวคิดการปรับพฤติกรรม ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นการผสานความร่วมมือในดำเนินงานของชุมชนท้องถิ่นจนเกิดเป็นรูปธรรมที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

โมเดล 1 : กิจกรรมปรับพฤติกรรม จากความรู้สู่รูปธรรมสร้างสุขภาพดีในชุมชน จากการศึกษาวิจัยผลของการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทยในจังหวัดอุบลราชธานี

การศึกษาพบว่าการออกกำลังกาย 5 วันๆละ 60 นาที/สัปดาห์ จะช่วยลดภาวะสมองเสื่อมได้ 57% หรือพบว่าคนทั่วไปทราบว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันมาออกกำลังกายได้ ต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อม ด้านสังคม/ชุมชนเข้ามาช่วย จึงได้ออกแบบเป็นกิจกรรมทดลอง เพื่อปรับเปลี่ยน 4 พฤติกรรม ได้แก่ ด้านอาหาร ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และดื่มสุรา โดยการจัดการใน 4 ระดับ คือ ระดับบุคคล ครัวเรือน กลุ่ม และชุมชน/ประชาคม

โดยเริ่มจากการอบรมการใช้เครื่องมือและแนวทางให้คำปรึกษา โดยการทำงานของทีมวิจัยร่วมกับเจ้าหน้าที่รพ.สต. และอสม. ตั้งแต่ในระดับบุคคล โดยให้คำแนะนำการออกกำลังกายรายบุคคลจากแบบประเมินปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมทางกาย ระดับครัวเรือน เช่น การเยี่ยมบ้านเยือนครัว โดยการติดสติ๊กเกอร์บนขวดน้ำปลาเพื่อเป็นการเตือนระวังการกินเค็ม ระดับกลุ่มจัดการความรู้ โดยจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนในกลุ่มมีปัญหาคล้ายกัน เช่น ติดเหล้า/บุหรี่ และระดับชุมชน/ประชาคม จัดเวทีให้ชุมชนหามาตรการของชุมชน เช่น สร้างสวนสุขภาพในหมู่บ้าน , ปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพรสุขภาพ โดยผลดำเนินการใน 1 ปี ที่มีการนำไปใช้จริงกับอาสาสมัครในหมู่บ้านทดลอง 30 หมู่บ้าน 1,767 คน จาก 15 อำเภอ ใน จ.อุบลราชธานี นั้น พบว่า หมู่บ้านที่ได้รับกิจกรรมทดลอง มีการปรับพฤติกรรมการออกกำลังกาย ร้อยละ 68.8 มากกว่าหมู่บ้านที่ไม่ได้ทดลองทำกิจกรรม ที่มีเพียงร้อยละ 41.1

โมเดล 2 : โรงเรียนรักเด็กรักษ์สุขภาพ กับการสร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพสำหรับเด็กทุกคน จากการศึกษาผลการใช้โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพต่อการลดน้ำหนักของเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ในโรงเรียนเทศบาล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นโปรแกรมที่ใช้แนวคิดทฤษฎีทางสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ตามแบบจำลองเชิงนิเวศพฤติกรรม มาเป็นเครื่องมือกำหนดการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี จากข้อค้นพบในการศึกษาประเด็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งพบว่า เป็น 1 ในปัจจัยที่มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการลดน้ำหนักในเด็ก

การดำเนินงานของโรงเรียนจึงเริ่มจากนโยบายผู้บริหารที่กำหนดให้มีการจัดสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อต่อสุขภาพหรือทำกิจกรรมทางกาย เช่น ให้มีลานกิจกรรม ซึ่งเด็กจะเลือกทำกิจกรรมตามที่ถนัดพร้อมให้เบิกยืมอุปกรณ์กีฬาได้ การจัดกิจกรรมกีฬาสำหรับนักกีฬาในเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ และได้มีกิจกรรมเสริมโดยนักเรียนทุกคนรวมทั้งนักเรียนที่มีน้ำหนักเกิน ต้องวิ่งสะสมรอบหรือออกกำลังกายที่ถนัดและบันทึกกิจกรรม ผลการติดตามกลุ่มทดลอง 51 รายที่มีน้ำหนักเกิน พบว่า พฤติกรรมการออกกำลังกายจากเดิมที่มีการออกกำลังกายระดับสูง/หนัก เพียง 4 ราย ระดับปานกลาง 35 ราย ระดับเบา 12 ราย เปลี่ยนไปเป็นมีการออกกำลังกายระดับสูง/หนัก 33 ราย ระดับปานกลาง 13 ราย ระดับเบา 5 ราย ทั้งนี้ การมีพื้นที่กิจกรรมทางกาย จะส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นและช่วยลดน้ำหนักของเด็กต่อไป

โมเดล 3 : ระบบจัดการขยะท้องถิ่น สู่โมเดลรับมือปัญหาขยะของพื้นที่ จากโครงการพัฒนากรอบการทำงานในระดับเขตสาธารณสุข จังหวัด และอำเภอ

ระบบการจัดการขยะในพื้นที่อำเภอกุดบาก จ.สกลนคร ซึ่งทีมวิจัยได้ศึกษาการทำงานระดับเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบว่า ท้องถิ่นมีรูปแบบการจัดการขยะอินทรีย์ และขยะรีไซเคิลซึ่งสามารถจัดการได้เองในครัวเรือนหรือชุมชน โดยการสนับสนุนการแยกและรับซื้อขยะรีไซเคิล ผ่านการดำเนินงานโครงการธนาคารขยะของเทศบาลในพื้นที่ ส่วนขยะที่ไม่สามารถจัดการได้ เช่น ขยะอันตราย ย่อยสลายยาก และขยะอุตสาหกรรม ได้ส่งเข้าระบบตามแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ จ.สกลนคร โดยส่งเข้าบ่อขยะของเทศบาล ต.กุดบาก หรือบ่อขยะของเทศบาล ต.พังโคน ส่วนขยะที่ให้เอกชนมารับไปกำจัดด้วยเตาเผาขยะติดเชื้อที่ จ.สระบุรี ได้แก่ ขยะติดเชื้อในคลินิก รพ.สต.ตำบล และโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของการจัดการขยะของท้องถิ่นนั้น คือ มีรูปแบบในกำจัดขยะโดยท้องถิ่นเอง ร่วมกับการส่งต่อจัดการ ซึ่งช่วยให้เกิดการวางแผนจัดการขยะอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทั้งนี้ ทีมวิจัยจึงได้ต่อยอดการดำเนินงานดังกล่าวโดยสร้างระบบเมตริก (Metric) การจัดการ/รับมือปัญหาขยะ และใช้เป็นข้อเสนอแนวทางการจัดการที่กว้างขวางและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เกิดกลไกจัดการที่มีสมรถนะในการทำงานได้ครอบคลุมไปในหลายพื้นที่มากขึ้น

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างการยกระดับความรู้สู่รูปธรรมของการที่ อปท. ช่วยสร้างสุขภาพให้ประชากรในขอบเขตความรับผิดชอบให้มีสุขภาพที่ดี ป้องกันโรคไม่ติดต่อและมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้หลากหลายตามหลักการของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ อันจะเกิดผลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในชุมชนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version