ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปี พบว่ามีผู้ป่วยเข้ามารับบริการในห้องฉุกเฉินปีละ 35 ล้านครั้ง แต่มีผู้ป่วยที่โทรผ่านหมายเลขฉุกเฉิน 1669 ปีละ 6 ล้านครั้ง และมีการออกปฏิบัติการปีละ 1.8 ล้านครั้ง ดังนั้นถ้าเทียบกับตัวเลขผู้ป่วยยังถือว่าค่อนข้างน้อยอยู่ แต่หากพิจารณาจากแนวโน้มการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินแต่ละปี ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ครอบคลุมไปทั่วประเทศ 77 จังหวัด และในอนาคต สพฉ.จะเน้นการพัฒนามากขึ้น โดยเพิ่มปริมาณหน่วยที่ออกปฏิบัติการเพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น พร้อมเน้นย้ำเรื่องของคุณภาพ มาตรฐาน และพยายามผลักดันให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสำหรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินเองหรือผู้ปฏิบัติงานด้วย
เลขาธิการ สพฉ. ยังกล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยที่ออกปฏิบัติการฉุกเฉินยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนหน่วยที่มีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีจำนวนมาก จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ สพฉ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้จัดทำโครงการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการให้คนไทยมีสุขภาพดี สพฉ. จึงสานต่อภารกิจ โดยเน้นให้ความรู้ประชาชน ให้ตระหนักรู้ถึงภาวะฉุกเฉิน ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลตัวเองเบื้องต้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และพัฒนาจิตอาสามาช่วยพัฒนางานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
" สำหรับโครงการเฉลิมพระเกียรติดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่งาน โดยจะจัดกิจกรรม 30 โครงการ เน้นย้ำให้คนไทยมีสุขภาพดี ซึ่ง 1 ใน 30 โครงการ สพฉ. ได้ร่วมจัดกิจกรรมด้วย คือ สอนประชาชนให้มีความรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน(CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) นอกจากนี้ ยังสอนให้เด็กมีความรู้เรื่องการลอยตัวเพื่อป้องกันปัญหาการจมน้ำ เสียชีวิต โดยกิจกรรม จะจัดขึ้นใน วันที่ 26 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยตั้ง กลุ่มเป้าหมายตั้งต้น ภายใน 1 วัน ว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม 1 พันคน แบ่งเป็นนักเรียน 500 คน อสม. 500 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายตั้งต้น หลังจากนั้นก็จะมีการขยายผลต่อไป"
สพฉ.ได้ตั้งเป้าขยายโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยจะเชิญภาคีเครือข่าย 10x10 หรือ 100 หน่วยงาน เพื่อเร่งขับเคลื่อน และสอนให้เป็นครูเพื่อไปสอนต่อ 10x100 ให้มีครู 1,000 คน และ มีผู้ช่วยครู 10x1000 ก็คือ 10,000 คน ไปสอนประชาชนอีกทอด ให้ประชาชนมีความรู้เพิ่มเป็น 10 หมื่น 10 แสน 10 ล้าน ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน 1 ปี และ 3 ปี เพราะฉะนั้นเป้าหมายคือ ประชาชน 10 ล้านคนจะต้องมีความรู้เรื่อง การปฐมพยาบาล CPR และ AED ซึ่งหากประชาชนมีความรู้เรื่องนี้ ก็จะสามารถไปประกอบเติมเต็ม ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิตได้ คือ ห่วงที่ 1 การรับรู้ ถึงภาวะฉุกเฉิน และ มีการแจ้งเหตุเร็ว ห่วงที่ 2 คือ ถ้ามีความจำเป็น จะต้องปฐมพยาบาล หรือ CPR ได้เร็ว ห่วงที่ 3 คือการใช้ AED ทำได้เร็ว ในเวลาที่เหมาะสม ห่วงที่ 4 คือ มีรถฉุกเฉิน หรือหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินมาช่วย ณ จุดเกิดเหตุได้เร็ว และ ห่วงที่ 5 คือไปถึงสถานพยาบาลที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว ได้ทันเวลา ซึ่ง 5 ห่วงนี้หากถูกเติมเต็ม ก็จะทำให้การรอดชีวิตเร็วขึ้น เพราะเดิมทีหากเราเจ็บป่วย ก็จะพุ่งตรงไปห่วงที่ 5 เลย เวลาต่อมาก็มีการพัฒนา ห่วงที่ 1 แล้ว ไปรอห่วงที่ 4 คือรอรถฉุกเฉินมารับ ดังนั้นโครงการนี้จะมาเติมเต็ม และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องมีจิตอาสาด้วย เพราะหากเราเจอแล้วไม่ช่วยก็จบ