ทีมที่ผ่านเข้ารอบ Incubation ในโครงการ U.REKA รุ่นที่ 2 จำนวน 8 ทีม ได้แก่
- Mind My Health ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI/Machine Learning และ Big Data พัฒนาระบบวิเคราะห์ดัชนีสุขภาพและอายุมาตรฐาน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญและป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ โดยนำข้อมูลทางกาย เช่น สัญญาณชีพ กิจกรรมทางกายภาพ การนอน ความเครียด ความจำ คุณภาพชีวิต และสุขภาพจิต ฯลฯ มาประมวลผลและวิเคราะห์
- Polysense พัฒนาแพลตฟอร์มการดูแลเด็กทารกจากระยะไกล โดยต่อยอดเทคโนโลยี AI/Machine Learning พร้อมด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) และการติดตามสัญญาณชีพแบบไร้การสัมผัส (Non contact vital sign monitoring) โดยเฝ้าสังเกตกิจกรรมที่กำลังทำ การเคลื่อนไหว การนอน อารมณ์ พฤติกรรม และสัญญาณชีพ
- !XU ตั้งเป้าหมายในการค้นหายารักษาโรคความเสื่อมของระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โดยนำเทคโนโลยี AI/Machine Learning มาพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือทำนายสารประกอบเคมีที่มีศักยภาพในเชิงการรักษาโรคดังกล่าว จากฐานข้อมูลสารประกอบในสมุนไพรและยารักษาโรคอื่นๆ
- Chroml พัฒนาการตรวจจับเชื้อวัณโรคดื้อยา ด้วยเทคโนโลยี Machine Learning ที่จะช่วยจำแนกผลการตรวจแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความรวดเร็วและแม่นยำ โดยไม่ต้องใช้สายตาของมนุษย์
- Inspectra นำเทคโนโลยี AI และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) อ่านภาพเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อหาความผิดปกติในทรวงอกครอบคลุมทั้งหมด 14 ภาวะ ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรังสีวินิจฉัยและการเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล
- OZT Robotics ใช้เทคโนโลยี AI/Machine Learning และ Drones and mobile robots พัฒนานวัตกรรมการสร้างแผนที่สามมิติพร้อมระบุตำแหน่งตนเองและระบบนำทางโดยอัตโนมัติของโดรนในอาคาร เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดการใช้โดรนในอาคารหรือสถานที่ที่ไม่มี GPS การพัฒนาครั้งนี้เป็นการเปิดประตูสู่การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การตรวจสต๊อคในคลังสินค้าขนาดใหญ่
- FinQuanti พัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์การลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อลดข้อจำกัดการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเดิมที่ต้องทดสอบข้อมูลย้อนหลังและลักษณะข้อมูลไม่มีความแน่นอน ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้เทคโนโลยี AI/Machine Learning และ Big Data เพื่อให้สามารถทดสอบข้อมูลได้แบบเฉพาะเจาะจง ทั้งข้อมูลจริงและที่ระบบจำลองขึ้น
- DeSDev ต่อยอดเทคโนโลยี Blockchain เพื่อพัฒนาตลาดเครดิตพลังงานไฟฟ้าที่มีการซื้อขายระหว่างบุคคลได้อย่างเสรีและกระจายตัว ช่วยให้ผู้ใช้พลังงานทุกระดับสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อีกทั้งยังโปร่งใสและช่วยลดปัญหาการเก็งกำไรเกินควร
เกี่ยวกับโครงการ U.REKA
โครงการ U.REKA เป็นโครงการส่งเสริมนักวิจัยและผู้ประกอบการนวัตกรรมด้าน Deep Technology ด้วยการสนับสนุนครบวงจรจากสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจชั้นนำของไทย เพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเชิงดิจิทัลของประเทศ พันธมิตรโครงการ U.REKA เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ ได้แก่ Hello Tomorrow Singapore องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งใช้ Deep Tech แก้ปัญหาระดับโลก Baker McKenzie, 360IP, บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด KX: Knowledge Exchange บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ โรงพยาบาลสมิติเวช บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอปอร์เรชั่น จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัดข้อมูลเพิ่มเติม http://www.u-reka.co/