นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยลดลงต่อเนื่อง 4 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 76.4 ในเดือนมิถุนายน ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี เพราะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวเพราะสงครามการค้า ภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอลงตามการลดลงของนักท่องเทียวจีน รวมถึงรายได้ภาคเกษตรซึ่งพลิกกลับมาหดตัว ด้านการบริโภคในประเทศนั้น แม้ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา แต่ในอนาคตอาจจะปรับตัวลดลงได้ หากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดก่อนหมดลง และรัฐบาลชุดใหม่ไม่ดำเนินการต่อ
"ดัชนีการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับซื้อของในร้านธงฟ้าเป็น 500 บาทต่อเดือน จากเดิม 200 บาท ซึ่งมีผลในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน แต่หลังจากนั้นวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะลดลงกลับไปเหลือ200 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงมากในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดยหากพิจารณาเป็นรายสินค้า จะพบว่าการบริโภคในเดือนพฤษภาคมถูกขับเคลื่อนโดยสินค้าไม่คงทน ซึ่งได้รับผลบวกจากการเพิ่มวงเงินสวัสดิการ ในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทน และกึ่งคงทน เช่น รถยนต์และเสื้อผ้านั้นแทบไม่ขยายตัว" นายคมศรกล่าว
ดังนั้น การแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 นี้ จึงมีความสำคัญในการสร้างความชัดเจนต่อนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นยังมีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบันที่การส่งออกและการท่องเที่ยงยังอ่อนแอตามเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า นโยบายรัฐบาลน่าจะดำเนินการได้ทันที ได้แก่ 1. นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2. นโยบายพักหนี้เกษตรกร และ 3. นโยบายมารดาประชารัฐ เนื่องจากนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายต่อเนื่อง ง่ายต่อการดำเนินการ และช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของครัวเรือน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่วนนโยบายระยะยาว เช่น แผนการลงทุน และแผนปฏิรูปเศรษฐกิจต่างๆ นักลงทุนอาจยังไม่ให้น้ำหนักมากนัก เนื่องจากยังต้องประเมินเสถียรภาพของรัฐบาลประกอบด้วย