ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิต JWD InfoLogistics เป็น BBB(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

พุธ ๒๔ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๑:๕๗
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เป็น BBB(tha) จาก BBB+(tha) และปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของบริษัทฯ เป็น F3(tha) จาก F2(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

การปรับลดอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงความเห็นของฟิทช์ว่า JWD น่าจะยังคงมีอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดจาก อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวอยู่ในระดับ 4.3 เท่า ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนและเงินลงทุนที่สูงประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2561 ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนและเงินลงทุนในปี 2562 น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ในขณะที่กระแสเงินสดรับจากเงินลงทุนเหล่านี้น่าจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว ทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ น่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 3 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูงจากการลงทุน: แผนการลงทุนของ JWD ในปี 2562 ยังคงอยู่ในระดับสูงประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2561 โดยเป็นค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับการขยายห้องเย็นและการเข้าซื้อหุ้นประมาณร้อยละ 24 ในบริษัท Transimex Corporation ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดห้าอันดับแรกในประเทศเวียดนาม เพื่อเป็นการเข้าสู่ตลาดบริการโลจิสติกส์ในประเทศเวียดนาม ฟิทช์มองว่าสำหรับการลงทุนใน Transimex JWD มีการยอมรับความเสี่ยงที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับการลงทุนของ JWD ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการใช้เงินลงทุนที่สูงในการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ซึ่งมีความสามารถที่จำกัดในการควบคุมกระแสเงินสดของ Transimex ฟิทช์ไม่คาดว่า Transimex จะมีการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก Transimex น่าจะมีการลงทุนที่สูงเพื่อรักษาอัตราการเติบโตให้ทันกับการเติบโตของตลาดโลจิสติกส์ในประเทศเวียดนาม

ธุรกิจที่แข็งแกร่ง: รายได้ของ JWD น่าจะเติบโตร้อยละ 15-17 ต่อปีในช่วงปี 2562-2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจ Food Service ที่เข้าซื้อกิจการมาในปีก่อน ซึ่งมีการรวมผลประกอบการเข้ามาเต็มปีเป็นปีแรกในปี 2562 และโครงการใหม่ในธุรกิจดังกล่าวในปี 2563 รวมถึงธุรกิจใหม่อื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจคลังสินค้าส่วนตัวและบริการจัดเก็บสินค้าด้วยตนเอง (Self-Storage) ธุรกิจขนย้ายเครื่องจักรขนาดใหญ่ เป็นต้น ในขณะที่รายได้จากธุรกิจปัจจุบันน่าจะยังคงเติบโตในอัตราร้อยละ 5-8 ต่อปีโดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากธุรกิจห้องเย็นและธุรกิจขนส่ง กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ของ JWD อาจจะลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 26-27 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากร้อยละ 34-35 ในช่วงปี 2559-2560 (2561: ร้อยละ 28.4) เนื่องจากธุรกิจ Food Service ที่เข้าซื้อกิจการมาน่าจะมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ในระดับต่ำกว่าธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากการใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่า โดยอัตราส่วนกำไรดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4-5 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ฐานลูกค้าจากธุรกิจที่หลากหลาย: JWD มีฐานลูกค้าในหลากหลายธุรกิจ เนื่องจากสินค้าที่ JWD ให้บริการมีความหลากหลายตั้งแต่ สินค้าทั่วไป สินค้าอันตราย รถยนต์ จนถึงผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง นอกจากการให้บริการคลังสินค้าและการขนส่ง JWD ยังเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั่วไปอื่นๆ แก่บริษัทและบุคคล เช่น บริการจัดการข้อมูลและเอกสาร บริการขนย้าย รวมถึงคลังสินค้าส่วนตัวและบริการจัดเก็บสินค้าด้วยตนเอง (Self Storage)นอกเหนือจากประเทศไทย JWD มีการขยายธุรกิจไปยังประเทศเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับปานกลาง: JWD เป็นผู้ได้รับสัมปทานเพียงรายเดียวในการให้บริการดูแลรับฝากและขนย้ายสินค้าที่เข้าข่ายสินค้าอันตรายตามกฎหมาย ที่ทำการขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนการให้บริการโลจิสติกส์อื่นๆ ของ JWD ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีผู้ให้บริการหลักๆ เพียงไม่กี่ราย โดยที่ผู้ให้บริการแต่ละรายมีความแตกต่างกันในการให้บริการในระดับหนึ่ง เช่น พื้นที่ที่ให้บริการ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้นฟิทช์จึงเห็นว่า JWD ได้รับประโยชน์จากการมีอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับปานกลาง จากความต้องการเงินลงทุนที่สูง ความชำนาญ และประวัติในการให้บริการที่จำเป็นสำหรับสินค้าบางประเภท JWD เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการคลังสินค้าและลานวางสินค้าภายในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่ใหญ่ที่สุดสามรายแรกในด้านขนาดของพื้นที่ โดยท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือที่มีสินค้าขนส่งผ่านประมาณร้อยละ 80 ของสินค้าทั้งหมดที่ขนส่งผ่านเข้าออกจากประเทศไทยในปี 2561

ขนาดของธุรกิจที่เล็ก: JWD เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์อิสระ (Third-party Logistics Services Provider) โดยจะให้บริการลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่สำหรับงานประเภทซึ่งมีการจ้างผู้ให้บริการภายนอก (Outsourcing) แทนหน่วยงานภายในองค์กร ในขณะที่ลูกค้าอีกส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจนี้จึงมีขนาดเล็ก และอาจถูกจำกัดโดยขนาดของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของวัฏจักรเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เกี่ยวข้องกับการให้บริการจัดการและรับฝากสินค้านำเข้าและส่งออกที่ท่าเรือ ทำให้บริษัทฯ มีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของทรัพย์สินที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังเพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศรวมถึงการขยายธุรกิจต่อเนื่องไปยังธุรกิจบริการอาหาร น่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจรวมถึงการกระจายความเสี่ยงได้ในระยะยาว

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

JWD เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินแบบครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย รายได้ประมาณร้อยละ 25 ของบริษัทฯ สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากมีสัญญาสัมปทานและสัญญาระยะปานกลางถึงระยะยาวรองรับ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF (BBB(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดกลางภายใต้แนวความคิดศูนย์การค้าชุมชน ถือเป็นบริษัทที่มีอันดับเครดิตที่เทียบเคียงได้กับ JWD ฟิทช์เห็นว่า SF มีลักษณะธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า JWD จากการมีสัดส่วนรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้ที่สูงกว่าและมี EBITDAR Margin ที่สูงกว่า เนื่องจากสามารถส่งผ่านต้นทุนการดำเนินงานให้แก่ผู้เช่าได้มากกว่า นอกจากนี้ การมีสัญญาเช่ากับผู้เช่ายังช่วยทำให้ SF ไม่ได้รับผลกระทบโดยทันทีในกรณีที่เกิดสภาวะเศรษฐกิจขาลง อย่างไรก็ตาม SF มีสถานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่า JWD ซึ่งชดเชยกับลักษณะธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า ทำให้ทั้ง 2 บริษัท มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกัน

เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC, A(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สถานะเครดิตโดยลำพัง bbb+(tha)) ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย JWD มีขนาดธุรกิจ ขนาดของรายได้และ EBITDAR ที่เล็กกว่า IRPC เป็นอย่างมาก และมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า IRPC เล็กน้อยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม IRPC ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของสินค้าโภคภัณฑ์และมีความผันผวนของรายได้มากกว่า JWD ดังนั้น JWD จึงมีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตเมื่อพิจารณาจากสถานะเครดิตโดยลำพัง ของ IRPC ที่ bbb+(tha) หนึ่งอันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

- อัตราการเติบโตของรายได้จากธุรกิจปัจจุบันที่ร้อยละ 5-8 ต่อปี ในปี 2562-2564

- รายได้ 700 ล้านบาท ถึง 800 ล้านบาทจากบริษัทย่อยในธุรกิจ Food Service ที่เข้าลงทุนในปี 2561 และธุรกิจใหม่อื่นๆ ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการรวมรายได้เต็มปีจากบริษัทย่อยในธุรกิจ Food Service และรายได้ 1 พันล้านบาท ถึง 1.5 พันล้านบาทต่อปีจากธุรกิจดังกล่าวในปี 2563-2564

- EBITDAR Margin ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 26-27 ในปี 2562-2564 เนื่องจากธุรกิจ Food Service ที่มีอัตรากำไรต่ำกว่าธุรกิจปัจจุบัน

- ค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2562 และ 300 ล้านบาท – 400 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2564

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

- อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ:

- การลงทุนที่สูงอย่างต่อเนื่องโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม หรือความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่อ่อนแอลง ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) เพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับ 5.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ: JWD มีหนี้สินรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ที่จำนวน 2.7 พันล้านบาท ประมาณร้อยละ 49 จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 510 ล้านบาท จะถูกชำระคืนโดยเงินที่ได้รับจากเงินกู้ระยะยาวจำนวน 550 ล้านบาทที่เพิ่งได้รับจากธนาคาร สภาพคล่องของ JWD มีปัจจัยสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 424.3 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากธนาคารและออกตราสารหนี้ในตลาดทุน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 JWD มีวงเงินกู้ระยะยาวที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Committed Facilities) จำนวน 262 ล้านบาท และมีวงเงินกู้หมุนเวียนที่สามารถยกเลิกได้ที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Uncommitted Facilities) ประมาณ 625 ล้านบาท

สรุปรายการปรับปรุงงบการเงิน

- ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจำนวน 14.4 ล้านบาท ที่บันทึกในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ได้รับการจัดหมวดหมู่ใหม่ให้เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานปกติ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้แก่ ขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน และค่าที่ปรึกษาเป็นหลัก

- ค่าเช่าจำนวน 13.9 ล้านบาทที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งเกิดจากค่าเฉลี่ยเส้นตรงของค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญาเช่า ได้รับการจัดหมวดหมู่ใหม่ให้เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานปกติ และไม่ได้ใช้ในการคำนวนหนี้สินจากสัญญาเช่า

- ค่าเช่าจำนวนประมาณ 16.5 ล้านบาท ไม่ได้ใช้ในการคำนวนหนี้สินจากสัญญาเช่า เนื่องจากเป็นค่าเช่าระยะสั้นที่ไม่ต่อเนื่อง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย