กรมการข้าวเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว 10 พันธุ์ 10,000 ตันช่วยชาวนาผู้ประสบภัยแล้ง

พุธ ๒๔ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๓๔
กรมการข้าวพร้อมแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชาวนาที่ประสบภัยแล้งปลูกใหม่ เป็นข้าวเจ้า 10 พันธุ์ รวม 10,000 ตัน แนะปลูกให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม ไม่เช่นนั้นจะสิ้นสุดฤดูฝนก่อนข้าวออกรวง

นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า ภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวขาดน้ำประมาณ 10 ล้านไร่ ใน 20 จังหวัดได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน สกลนคร ขอนแก่น มุกดาหาร มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครสวรรค์ และจังหวัดลพบุรี ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้มอบให้ชาวนาที่ต้นข้าวเสียหายเพื่อปลูกใหม่ 10,000 ตัน หากมีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวได้ต่อไป โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เตรียมไว้เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุ 95 -120 วัน ได้แก่ พันธุ์ข้าว กข29 กข31 กข41 กข49 กข57 กข71 ชัยนาท1 พิษณุโลก2 สุพรรณบุรี1 และปทุมธานี 1 สาเหตุที่แนะนำให้ปลูกข้าว 10 พันธุ์นี้เนื่องจากยังมีช่วงระยะเวลาเจริญเติบโตของลำต้นและใบเพียงพอต่อการออกรวงให้ผลผลิตได้ ทั้งนี้การเพาะปลูกควรทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 เดือนสิงหาคม 2562 เนื่องจากจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนธันวาคม 2562 หากปลูกล่าช้าออกไปมากกว่านี้ จะมีน้ำไม่เพียงพอ เนื่องจากหมดฤดูฝนแล้ว ทำให้ต้นข้าวที่อยู่ในช่วงตั้งท้อง ออกรวงจะขาดน้ำ ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่าร้อยละ 50

สำหรับวิธีการปลูกนั้น แนะนำให้ปลูกโดยวิธีหยอด โรยเป็นแถว หรือหว่าน ไม่แนะนำให้ปลูกด้วยวิธีตกกล้าปักดำ เนื่องจากจะทำให้ต้นข้าวสามารถตั้งตัวและเจริญเติบโตได้เร็ว อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกที่เหมาะสมคือ ไร่ละ 10 - 15 กิโลกรัม

ในกรณีต้นข้าวประสบภัยแล้งในระยะต้นกล้า หรือระยะแตกกอ เป็นระยะเวลาไม่นาน มีอาการเหี่ยว ต้นข้าวยังไม่ตายหากได้รับน้ำอย่างเพียงพอจะสามารถกลับมาเจริญเติบโตได้ต่อไป สามารถออกรวงให้ผลผลิตได้ ขอให้เกษตรกรเพิ่มการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ควรเร่งหาน้ำให้ปล่อยแปลงนาโดยเร็ว และใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้ถูกสูตร ถูกอัตรา และถูกเวลาเพื่อให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น ทำการกำจัดวัชพืชและข้าวเรื้อในแปลงนา พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าวอย่างใกล้ชิด

นายประสงค์กล่าวถึง จากพื้นที่ประสบภัยแล้งในปี 2562 ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่สำคัญของประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรอาจจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทำให้ไม่มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีและเพียงพอที่จะเก็บไว้ใช้เองเพื่อปลูกในปีต่อไป รวมทั้งเกษตรกรบางรายขาดแคลนเงินทุนเพื่อจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งหากปล่อยให้เกษตรกรเผชิญกับปัญหาดังกล่าว อาจจะทำให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิมีคุณภาพต่ำลง และอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อตลาดข้าวหอมมะลิ ดังนั้น ในปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 (นาปี) กรมการข้าวจะได้มีการจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีให้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เพื่อใช้ในการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิให้มีประสิทธิภาพ ผลผลิตมีคุณภาพสูง รักษาระดับปริมาณและคงความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยจากการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐานไปปลูก และไม่มีผลกระทบต่อการค้าการตลาดของประเทศไทยต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version