ผศ.ดร.สายชล ชุดเจือจีน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา(ผอ.สวพ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ(มทร.กรุงเทพ) กล่าวถึงการทำงานวิจัยเรื่อง "การสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จากทรัพยากรพื้นถิ่นปลาน้ำจืดของจังหวัดสุพรรณบุรี" ว่า ทาง มทร.กรุงเทพมีทุนเดิมเกี่ยวกับงานบริการวิชาการในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบกับการมีโจทย์โครงการงานวิจัยการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรในแต่ละจังหวัดที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรับผิดชอบ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนางานวิจัยและการสนับสนุนชุดโครงการวิจัยที่มีผลกระทบสูง(Program based Research) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
"การทำงานวิจัยในชุดนี้มีภาคีเครือข่ายจากประมงจังหวัดสุพรรณบุรีเข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุก ในจังหวัดสุพรรณบุรีมีการเลี้ยงปลาดุกมากเป็นลำดับ 2 รองจากปลานิล ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี จากข้อมูลดังกล่าวจึงมีการลงพื้นที่บ้านดอนตะเคียน พบว่ามีการเลี้ยงปลาดุกทั้งหมด 25 บ่อ โดยมีการทำงานแบบเป็นไปตามกรอบงานวิจัยย่อยโดยใช้โจทย์เกษตรกรเข้ามาทำงานวิจัย"
จากแผนพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ.2561-2564 ได้มีการวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่โดยเฉพาะปัญหาการทำประมงน้ำจืด และการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำจืด พร้อมทั้งได้วิเคราะห์ความต้องการในการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีช่องทางการทำหน่ายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการจำหน่ายแบบขายสดหน้าบ่อ โดยในแผนดังกล่าวยังต้องการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย
"การจำหน่ายปลาจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อโดยตรงจากหน้าบ่อ แต่ปัจจุบันราคาปลาดุกเริ่มตกต่ำและมีต้นทุนที่เกษตรกรแบกรับค่อนข้างสูง ทำให้มีกำไรน้อยลงและตัวเกษตรกรเองรู้สึกไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ดังนั้น การลงพื้นที่ของนักวิจัยจะมีการทำงานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ อย่างการเลี้ยงปลาดุกอย่างไรอาหารแบบไหน การแปรรูปตลอดจนถึงการทำการตลาด อย่างการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์เป็น"ปลาดุกอุ๊ย"เพื่อให้ดูสะดุดตาและจดจำแบรนด์สินค้าได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาไปเป็นผู้ประกอบการอย่างครบวงจรที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนการผลิต และได้รับผลกำไรมากยิ่งขึ้น"
ทั้งนี้ การทำงานในระดับต้นน้ำนักวิจัยจะทำงานร่วมกับเกษตรกรในเรื่องการบริหารจัดการฟาร์ม การเลี้ยงการให้อาหารและการจำหน่าย การให้ความรู้แก่เกษตรกรในการวิเคราะห์ต้นทุนโดยเน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระดับกลางน้ำเป็นการยกระดับการแปรรูป ซึ่งเป็นส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงที่อยากผันตัวเองมาแปรรูปขาย ภายใต้แบรนด์"ปลาดุกอุ๊ย" รวมไปถึงการคิดสูตรปลาดุกแปรรูปที่มีโซเดียมต่ำซึ่งกำลังทำวิจัยอย่างต่อเนื่องและคาดว่าผลิตภัณฑ์จะออกจำหน่ายในท้องตลาดเร็วๆ นี้
ขณะที่ในส่วนของปลายน้ำ จะเป็นการคงตลาดเก่าที่มีทั้งขายปลีกและขายส่ง ซึ่งเคยจำหน่ายอยู่แล้วและเปิดตลาดใหม่อย่างร้านขายของฝากหรือกลุ่มผู้รักสุขภาพเพื่อเจาะฐานลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะโซนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับการเปิดตลาดใหม่ส่วนหนึ่งจะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปมาขายในตลาดนัดที่เปิดทุกวันพุธใน มทร.กรุงเทพ ซึ่งมีการจำหน่ายสินค้าต่างๆมากมาย โดยผศ.ดร.สายชล เชื่อว่าช่องทางนี้จะทำให้เกิดฐานลูกค้าหน้าใหม่และทำให้ผลิตภัณฑ์ปลาดุกอุยจากเกษตรกรมีราคาดีขึ้น
ด้านนายเดชา รอดระวัง ประมงจังหวัด สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี ระบุว่า การทำงานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและสำนักงานประมงจังหวัด ในการช่วยกันแก้ปัญหาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงและผู้แปรรูปในชุมชน ทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานการผลิตสูง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม การบูรณาการความร่วมมือระหว่างนักวิจัยมหาวิทยาลัย ภาคีเครือข่ายในจังหวัดดังกล่าว ถือเป็นการมุ่งยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกให้สามารถแปรรูปผลผลิตจากองค์ความรู้ในงานวิจัย ที่นอกจากเพิ่มมูลค่าสินค้าแล้วยังเป็นการเชื่อมโยงตั้งแต่กระบวนการผลิต การจำหน่าย การแปรรูปอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรหน้าบ่อ ในการลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ และลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างลงตัว.