บัตรมิวพาส ชวนพสกนิกรไทยออกไปชื่นชมพระบารมี ใกล้ชิดพระราชกรณียกิจ ผ่าน 7 แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี

ศุกร์ ๒๖ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๓:๔๓
นับเป็นช่วงเวลาแสนพิเศษของพสกนิกรไทยนับล้านดวงใจ ที่จะได้แสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชจักรีวงศ์ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ใกล้วันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับพสกนิกรที่จะได้ใกล้ชิดและชื่นชมพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านแหล่งเรียนรู้ 7 แห่ง ที่มีเรื่องราวสุดประทับใจ ที่คนรุ่นใหม่ต้องออกไปสัมผัสด้วยตาของตัวเองสักครั้งในชีวิต และความพิเศษจะทวีคูณโดยเฉพาะผู้ที่ถือบัตรมิวพาส เพราะสามารถแสดงบัตรเพื่อเข้าชมแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

- เรียนรู้กิจการน่านฟ้าไทยเกียรติภูมิเกริกก้องไกลถึงต่างแดน

ไปเริ่มต้นกันที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ ซึ่งรวบรวมอากาศยาน อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารที่เคยใช้ในกองทัพอากาศ ตลอดจนบริภัณฑ์ประจำตัวนักบิน เครื่องแบบ และพัสดุสำคัญมาจัดแสดง และยังมีห้องสมุดที่มีจดหมายเหตุ และเอกสารทางประวัติศาสตร์ไว้ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้า และในปี พ.ศ. 2503พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์และทรงมีความสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับการบิน ทรงพระราชทานเครื่องบินแบบ "สปิตไฟร์" ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งปลดจำการไปแล้ว และนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติแก่พิพิธภัณฑ์เครื่องบินเมืองแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ในการเผยแพร่เกียรติคุณ และชื่อเสียงด้านอากาศยานของชาติไทยในต่างแดนอีกด้วย ซึ่งเปิดให้เข้าชมในวันอังคาร-วันอาทิตย์

- สุขสนุกพอเพียงกับแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาวิถีเกษตรครบวงจร

หนึ่งในต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ภูมิปัญญานวัตกรรมเกษตร ต้องยกให้พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แหล่งเรียนรู้พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ภูมิปัญญานวัตกรรมเกษตร เศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยจัดแสดงนิทรรศการทั้งในอาคารและกลางแจ้ง ที่แบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ ซึ่งเหมาะกับการพาครอบครัว พาเด็กๆ ไปสนุกกับกิจกรรมของจริงและฝึกปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังอุปนิสัยการพึ่งตนเอง การลดค่าใช้จ่าย การหารายได้ และสร้างประโยชน์ต่อครอบครัวและชุมชน โดยเปิดให้เข้าไปเรียนรู้ สุข สนุกในวันอังคาร-อาทิตย์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

- หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

จากพระราชกรณียกิจและความสนพระราชหฤทัยด้านศิลปกรรมและงานฝีมือของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงเป็นที่มาของการสร้างหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่เกิดจากพระราชดำริของพระองค์ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนไทยที่จัดแสดงนิทรรศการของศิลปินไทย โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่นแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ตลอดจนศิลปินอาวุโสที่ได้รับการยกย่อง การจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนตลอดปี ซึ่งเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเติมเต็มความรู้ด้านงานศิลปะ โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ทุกวัน ยกเว้นวันพุธ

- ขึ้นรถไฟฟ้าไปพระราชวังพญาไท แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยจากอดีตสู่ปัจจุบัน

อีกแหล่งเรียนรู้ที่เดินทางง่ายอยู่ใจกลางเมือง นั่นคือ พระราชวังพญาไท ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการเป็นโรงนาหลวงอันเป็นที่ทดลองทำนาทำสวน และในเวลาต่อมาได้รับการบูรณะเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งรับการพระราชทานให้เป็นที่ทำการของกองทัพบกด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าในปัจจุบัน และยังคงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ซึ่งมีโครงสร้างเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนสูง 2 ชั้น ที่ผสมผสานการออกแบบระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิคเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยพระราชวังพญาไทเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมในวันอังคาร-วันอาทิตย์ ซึ่งเดินจาก BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพียง 5 นาทีเท่านั้น

- เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยประวัติศาสตร์โลกผ่านตราไปรษณียากร

นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งของประเทศไทย ที่ถูกเล่าเรื่องราวผ่านดวงตราไปรษณียากร ซึ่งสะท้อนความรุ่งเรื่องด้านการสื่อสารของไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เริ่มต้นจากกิจการไปรษณีย์ ภายในพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน ได้รวบรวมประวัติความเป็นมาของการไปรษณีย์ไทย ตั้งแต่การก่อกำเนิดแสตมป์ดวงแรกของโลกที่ประเทศอังกฤษ และการนำแสตมป์เข้ามาใช้ในประเทศไทย แสตมป์ดวงแรกของไทยชุด "โสฬส" สมัยรัชกาลที่ 5 และรุ่งเรืองเรื่อยมาจนกระทั่งมีการสร้างอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก รวมถึงตู้ไปรษณีย์เก่าแก่อายุ 136 ปี ศิลปะสมัยวิคตอเรียน ซึ่งปัจจุบันมีดวงตราไปรษณียากรจัดแสดงกว่า 1,000 ชุด และยังมีแสตมป์จากทั่วโลกกว่า 200 ประเทศให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติม โดยเปิดให้เข้าชมในวันพุธ-วันอาทิตย์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

- มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ บรรจุไว้อย่างครบครันในอุทยาน ร.2

แหล่งเรียนรู้บรรยากาศดีริมแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ที่อยากเชิญชวนให้คนไทยไปสัมผัสด้วยตนเองสักครั้ง คือ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือที่เรียกกันว่า อุทยาน ร.2 ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ได้พระราชทานศิลปะอันงดงามไว้เป็นมรดกของชาติ ประกอบด้วยเรือนไทยโบราณที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ขนมไทยจำลอง โรงละครกลางแจ้งสำหรับใช้จัดการแสดงโขน ละคร ดนตรี ตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย การจัดแสดงศิลปวัตถุในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หุ่นขี้ผึ้งจำลองวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต และยังมีสื่อมัลติมีเดียเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ รวมถึงพระอัจฉริยะภาพในทางวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีไทย นาฏศิลป์ จิตรกรรม สถาปัตยกรรม เป็นต้น โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมทุกวัน

- ซาบซึ้งพระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์ รัชกาลที่ 9 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์

พื้นที่การจัดแสดงพรรณไม้นานาชนิดทั่วทุกมุมโลกบนเนื้อที่กว่า 500 ไร่ ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ ภายในยังมีสถาปัตยกรรมแบบล้านนา อันวิจิตรตระการตาและสง่างามที่สุด สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ที่ทรงอัจฉริยภาพและทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก ภายใต้แนวคิด "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย" นอกจากนี้ ยังมีส่วนจัดแสดงโครงการพระราชดำริเต็มรูปแบบ 3 มิติทั้ง แสง สี และเสียงสุดอลังการ อาทิ "จากจิตรลดาสู่พสกนิกร" พระอัจฉริยภาพในส่วนของโครงการส่วนพระองค์ ป่าไม้สาธิต นาข้าวทดลอง ปลานิล ปลาหมอเทศ โรงโคนม ไบโอดีเซล สาหร่ายเกลียวทอง ผลิตภัณฑ์จากหนังปลานิล "น้ำพระทัยอาทรชาวสยาม" การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น และพระราชดำริให้จัดทำฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะแห้งแล้ง ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรได้เป็นอย่างมาก

นอกจากการชื่นชมพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ที่ผู้ถือบัตรมิวพาสจะได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดมากที่สุดแล้วแหล่งเรียนรู้ทั้ง 7 แห่งยังถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สามารถส่งต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ไปพร้อมกับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ที่สร้างเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งผู้ที่สนใจแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัตรมิวพาส สามารถติดต่อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 529 หรือที่เฟซบุ๊ค Muse Pass (https://www.facebook.com/musepass)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย