ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s)

ศุกร์ ๒๖ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๓๕
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Moody's Investors Service (Moody's) ว่า Moody's ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) จากระดับ "มีเสถียรภาพ (Stable Outlook)" เป็น "เชิงบวก (Positive Outlook)" และคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Credit Rating) ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562 ซึ่ง Moody's ได้ชี้แจงเหตุผลและปัจจัยที่สำคัญ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเกิดจากการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและการพัฒนาทุนมนุษย์ที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP) ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยผ่านการดึงดูดและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการ EEC มีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) สะท้อนได้จากยอดสุทธิการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่าตัวจากปี 2559 รวมถึงการที่รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วงเงิน 2.76 ล้านล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 18 ของ GDP)

2. การดำเนินงานนโยบายทางการคลังและการเงินของรัฐบาลที่มีความโปร่งใสและคาดการณ์ได้ส่งผลให้หนี้รัฐบาลและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ โดย Moody's ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริงอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 – 3.5 ในปี 2562 – 2563 ซึ่งสอดคล้องกับค่ากลางอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือกลุ่ม A และ Baa ใน 2 – 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น เศรษฐกิจที่มีความมั่นคง การลงทุนภายในประเทศและการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยลดปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอีกด้วย

3. ความแข็งแกร่งทางการเงินภาคต่างประเทศ (External Finance) และภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) เป็นผลจากการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพ โดย Moody's ประมาณการสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 35 – 40 ในปี 2562 – 2563 ซึ่งใกล้เคียงกับค่ากลางสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP ของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือกลุ่ม A ที่ร้อยละ 37 และต่ำกว่าค่ากลางสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP ของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือกลุ่ม Baa ที่ร้อยละ 52 ซึ่งการมีหนี้รัฐบาลในระดับต่ำนั้นจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงรองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่คาดคิด นอกจากนี้ การบริหารหนี้สาธารณะในเชิงรุกและการมีสัดส่วนหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศในระดับต่ำจะเป็นเกราะป้องกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ

4. Moody's ให้ความเห็นว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะจะส่งผลต่อความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้บรรจุแผนการลงทุนด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงการทำงานร่วมกับสหประชาชาติในการส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม พร้อมทั้งการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งจะช่วยยกระดับผลิตภาพและทักษะแรงงานในระยะต่อไป

5. Moody's คาดว่า ความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศจะช่วยปรับสมดุลจากการไหลเข้าออกของเงินทุน โดย Moody's ประมาณการว่าสัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ของไทยจะเกินดุลอยู่ที่ร้อยละ 3 – 5 ในปี 2562 – 2563 แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ในระดับต่ำกว่าในปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอตัวลงและมีการเบิกจ่ายตามโครงการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่ากลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือกลุ่ม A และ Baa ในขณะที่การเกินดุลต่างประเทศมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 215,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 40 ต่อ GDP ณ เดือนมิถุนายน 2562

6. ทั้งนี้ Moody's จะติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงการแก้ไขปัญหาทักษะแรงงานและปัญหาสังคมผู้สูงอายุซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในอนาคต

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ

โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505 5522

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม