"การยกระดับศักยภาพของแรงงาน โดยยกระดับรายได้ค่าแรงแรกเข้าและกลไกการปรับอัตราค่าจ้างที่สอดคล้องกับสมรรถนะแรงงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลราคาสินค้าไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชน และสามารถจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเองเพื่อปรับเปลี่ยนทักษะ และเปลี่ยนสายอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี"
โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง "ค่าจ้างแรกเข้า" เป็นไปตามที่หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เคยนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2560 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประจำอย่างที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยนโยบายดังกล่าว จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจน เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทย รวมทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของแรงงานและประชาชนดีขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาล ได้มีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 400-425 บาทต่อวันทั่วประเทศ ซึ่งสร้างความสับสนและความกังวลใจต่อทุกภาคส่วนที่มีการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนทั่วไป (มีความเป็นห่วงว่าค่าครองชีพจะสูงขึ้น) ต่างมีเสียงสะท้อนแสดงความไม่เห็นด้วย จนมีการตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมและความถูกต้องถึงวิธีการที่ได้มาของการใช้อัตราค่าจ้างตามกระแสข่าว
จากเหตุดังกล่าว หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินการจัดทำการสำรวจความคิดเห็นต่อประเด็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากสมาชิกทั่วประเทศ ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัด 76 จังหวัด หอการค้าต่างประเทศ 35 ประเทศ สมาคมการค้า 138 สมาคม สมาชิกผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,355 กลุ่มครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ผลการสำรวจเป็นการยืนยันไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ร้อยละ 93.9 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 400 บาทต่อวันตามกระแสข่าว โดยมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากแบบสอบถามตามเอกสารแนบ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงขอนำเสนอข้อคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล เรื่อง อัตราค่าจ้าง ดังนี้
1) การปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ควรยึดตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยผ่านกลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ควรมาจากการสรรหาที่แท้จริง และควรเป็นองค์กรอิสระที่สามารถดำเนินการพิจารณาตามหลักเกณฑ์
นอกจากนี้ ขอให้ทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)
2) การปรับอัตราค่าจ้างโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดในอาเซียน ดังนั้น รัฐบาลควรมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติก่อนที่จะมีการพิจารณาประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างทุกครั้ง
3) การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท และสงครามการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นต้น
4) การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงโดยทันที จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบ และทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีจำนวน 3,046,793 ราย โดยปี 2560 สร้างมูลค่าให้ประเทศ 6.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.4 ของสัดส่วน GDP ทั้งประเทศ (ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.) เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานเดิม พนักงานรายเดือน กลุ่มพนักงานราชการ และพนักงานของรัฐในตำแหน่งต่าง ๆ ด้วย
5) การปรับอัตราค่าจ้างที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นตาม (เนื่องจากมีการใช้แรงงานในทุกห่วงโซ่ของเศรษฐกิจ)
6) การปรับค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้กระทรวงแรงงาน เร่งส่งเสริมการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นให้ครบทุกอุตสาหกรรม (ปัจจุบันมี 241 สาขา)
7) รัฐบาลควรเร่งกำหนดใช้ "อัตราค่าจ้างแรกเข้า" ในการประกาศใช้อัตราค่าจ้างครั้งต่อไปแทน "อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ" ทันที ตามนโยบายเร่งด่วนเรื่อง การยกระดับศักยภาพของแรงงาน และควรกำหนดนิยามของ "อัตราค่าจ้างแรกเข้า" ที่ชัดเจน
หลังจากกำหนดใช้อัตราค่าจ้างแรกเข้าแล้ว กระทรวงแรงงานต้องเร่งจัดทำโครงสร้างกระบอกเงินเดือนมาตรฐาน ที่สัมพันธ์กับค่าจ้างแรกเข้าของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแต่ละภาคส่วนที่ใช้แรงงาน และส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถนำไปใช้ปรับค่าจ้างประจำปีให้เหมาะสมกับการจ้างงานได้
8) รัฐบาลควรส่งเสริม การจัดอบรม และมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill Re-Skill และ New-Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานเพื่อมุ่งไปสู่การปรับค่าจ้างตามโครงสร้างกระบอกเงินเดือน
ท้ายที่สุดนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาชิกผู้ประกอบการทุกจังหวัดทั่วประเทศ เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพของแรงงาน รวมทั้งรายได้ของแรงงาน เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของภาคผู้ใช้แรงงานทั้งหมด การปรับขึ้นค่าจ้างควรคำนึงถึง ทักษะฝีมือแรงงาน สภาพเศรษฐกิจ อัตราค่าครองชีพ ยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดเป็นสำคัญ และควรเป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี