เอสซีจี แถลงผลประกอบการไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกของปี 2562

ศุกร์ ๒๖ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๖:๑๕
เอสซีจีแถลงผลประกอบการเอสซีจีไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกของปี 2562 กำไรลดลงหลักจากผลกระทบสงครามการค้า เผยเดินหน้านวัตกรรมสินค้า-บริการที่มีมูลค่าเพิ่ม และตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมส่งมอบโซลูชั่นครบวงจรให้ลูกค้า รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญที่สร้างมูลค่าให้เป็นไปตามแผน เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาวและรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้ธุรกิจ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจีในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2562 มีรายได้จากการขาย 109,094 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง และลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากรายได้ของธุรกิจหลักลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 9,079 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 22 จากไตรมาสก่อน จากปัจจัยสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ และการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1,150 ล้านบาท ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานดังกล่าวมูลค่า 2,035 ล้านบาท จะทำให้เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 7,044 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 221,473 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 20,741 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของสงครามการค้า แต่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยังมีรายได้สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของการก่อสร้างในภูมิภาค ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จะทำให้เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 18,706 ล้านบาท

โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services - HVA) 47,164 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน ทำให้ในครึ่งปีแรกของปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้า HVA 92,628 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในครึ่งปีแรกของปี 2562 ทั้งสิ้น 88,825 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีมูลค่า 618,591 ล้านบาท โดยร้อยละ 33 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกปี 2562 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจเคมิคอลส์ ได้รับผลกระทบของสงครามการค้าและค่าเงินบาทแข็งค่าที่ส่งผลให้ส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลง รวมทั้งการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 จึงมีรายได้จากการขาย 45,995 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 4,424 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 28 จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานดังกล่าวมูลค่า 482 ล้านบาท จะทำให้ธุรกิจเคมิคอลส์มีกำไรสำหรับงวด3,942 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 92,235 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 10,530 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จะทำให้ธุรกิจเคมิคอลส์มีกำไรสำหรับงวด 10,048 ล้านบาท

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 45,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการซบเซาของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในช่วงฤดูฝน โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 1,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 40 จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานดังกล่าวมูลค่า 964 ล้านบาท จะทำให้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีกำไรสำหรับงวด 873 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 94,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดซีเมนต์ในประเทศ โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 4,877ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จะทำให้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีกำไรสำหรับงวด 3,913 ล้านบาท

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 20,402 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 3จากไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการซื้อที่ลดลงในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และกระดาษประเภทอื่น ๆ โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 1,375 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 18 จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานดังกล่าวมูลค่า 338 ล้านบาท จะทำให้ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีกำไรสำหรับงวด 1,037 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 41,529 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการซื้อที่ลดลงในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และกระดาษประเภทอื่น ๆ โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 3,056ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จะทำให้ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีกำไรสำหรับงวด 2,718 ล้านบาท

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า "แม้ผลประกอบการของเอสซีจีในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกของปี 2562 โดยเฉพาะธุรกิจเคมิคอลส์ จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ประกอบกับรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในไตรมาสที่ 2 และการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ แต่เอสซีจียังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA ควบคู่กับการตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)พร้อมส่งมอบโซลูชั่นแบบครบวงจรให้ลูกค้า รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าให้ธุรกิจให้เป็นไปตามแผน ภายใต้ 2 กลยุทธ์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ทั้งการบริหารจัดการการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว (Long-term Growth) และการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน (Stability)

ด้านการบริหารจัดการการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ จะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยอาศัยจุดแข็งของเอสซีจีด้านการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้าเคมีภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การพัฒนาเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนเกรดพิเศษด้วย SMX Technology(TM) สำหรับผู้แปรรูปพลาสติกและเจ้าของแบรนด์สินค้าที่ต้องการเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในผลิตภัณฑ์ แต่ยังคงความแข็งแรงทนทานได้ดี ตลอดจนการพัฒนาสินค้าเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด ซึ่งล่าสุดได้เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา SCG Advanced Materials Laboratory ในเมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เพื่อพัฒนาต้นแบบสินค้าในกลุ่ม Functional Materials

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งยังคงมีการเติบโตที่ดีจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องของโครงการก่อสร้างของภาครัฐในไทย เช่นเดียวกับการเติบโตในภูมิภาคอาเซียนทุกประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซียซึ่งมีความต้องการภายในประเทศชะลอตัว เอสซีจีจึงเน้นรุกตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพและมูลค่าของตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างธุรกิจค้าปลีก เช่น การเปิดศูนย์ "SCG Home บุญถาวร" จำหน่ายสินค้าวัสดุตกแต่งที่เน้นครัวและห้องน้ำ ที่จังหวัดนครราชสีมา กระบี่ และนครศรีธรรมราช รวมถึงการขยายคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิของธุรกิจโลจิสติกส์ หรือการพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบวงจรยิ่งขึ้น เช่น โซลูชั่นระบบหลังคาที่ช่วยประหยัดพลังงาน ไม่รั่วซึมหรือสีซีดจาง และอยู่สบาย เป็นต้น

ขณะที่ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งมีการเติบโตที่โดดเด่นและมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ทั้งการเติบโตของธุรกิจ e-commerce และพฤติกรรมการบริโภคอาหารบริการด่วน เอสซีจีจึงเน้นการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจมากยิ่งขึ้น ด้วยการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมทั้งโรงงาน UPPC ในฟิลิปปินส์ และโรงงาน BATICO ในเวียดนาม รวมทั้งการซื้อหุ้น Fajar ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย

อีกหนึ่งกลยุทธ์ คือ การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน เอสซีจีคำนึงถึงการบริหารสภาพคล่องของธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เอสซีจีมีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร (cash & cash under management) 42,573 ล้านบาท สอดคล้องกับแผนการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังไม่แน่นอน รวมทั้งการทบทวนโครงการลงทุน โดยเน้นโครงการที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้รวดเร็ว เช่น การซื้อหุ้น Fajar ซึ่งจะสามารถรวมผลการดำเนินงานเข้ามาในธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจีได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 นี้ ส่วนโครงการลงทุนสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าให้ธุรกิจที่ได้ลงทุนไปแล้ว อย่างโครงการปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนามหรือ LSP ก็ได้เร่งดำเนินการให้สำเร็จตามแผน

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน โดยสามารถจ่ายไฟฟ้าได้แล้ว 77 เมกะวัตต์ ทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอก ช่วยให้ประหยัดได้ 350 ล้านบาทต่อปี และการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงาน(Waste to energy) เช่น การผลิตไฟฟ้าจากของเสียในการผลิตกระดาษ โดยมีกำลังการผลิต 9.6 เมกะวัตต์ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี ทั้งการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และการสร้างสตาร์ทอัพในองค์กร รวมทั้งการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

เอสซีจียังเน้นการขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางของตลาดโลก เช่น ธุรกิจแพคเกจจิ้งที่ส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปยังจีนและกลุ่มประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น หรือธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ส่งออกสินค้ากลุ่มฝ้าและผนังไปจำหน่ายในเกาหลีใต้ ก่อนมีแผนจะขยายตลาดไปยังโซนยุโรปเพิ่มเติมอีกด้วย" นายรุ่งโรจน์ กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2562 ในอัตรา 7.00 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 8,400ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 23สิงหาคม 2562 กำหนดวันที่ XD ในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 9 สิงหาคม 2562

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย