นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายกำลังเดินหน้าเจรจาเพื่อหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ สงครามการค้าได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในซัพพลายเชนของการผลิต ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นจะได้รับทั้งผลดีและผลเสียจากความขัดแย้งครั้งนี้
"ในระยะสั้นถึงกลาง การที่สหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน รวมถึงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จะทำให้สินค้านำเข้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น ดังนั้นผู้นำเข้าจากสหรัฐฯ อาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น รวมถึงไทย แต่หากจีนส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง ก็อาจนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะสินค้ากึ่งวัตถุดิบ เช่น พลอยสี น้อยลงเช่นกัน"
ขณะที่ในระยะยาว สงครามการค้าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกชะลอตัวลง และกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ เรามั่นใจว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาสินค้าเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะการหันมาเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ niche market และผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อ"
อธิบดี DITP แนะนำต่อว่า ผู้ประกอบการไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งปรับตัวสร้างแบรนด์สินค้าให้แข็งแกร่ง ผลิตและออกแบบสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อเสริมกับตลาดเดิมที่มีอยู่ด้วย
"ลูกค้าต้องการสินค้าที่มีความเป็น unique มากขึ้น สวมใส่แล้วต้องสะท้อนความเป็นตัวตนและแตกต่างจากคนอื่น และต้องการเครื่องประดับที่มีฟังก์ชั่นอื่นเพิ่มเติม เช่น วัดชีพจร นับก้าว หรือเป็นเครื่องประดับชิ้นเดียว แต่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบใส่ได้ในหลายโอกาส นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรสร้างสรรค์สินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าระดับกลางและบนมากขึ้น เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีกำลังซื้อ ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม"
ทั้งนี้ DITP ได้ตั้งเป้ายอดการส่งออกสินค้าแฟชั่น รวมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2562 เติบโตประมาณ 1% จากปีที่ผ่านมา โดยพร้อมเดินหน้าจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อหาตลาดและคู่ค้าใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนตลาดเป้าหมายเพื่อหาลู่ทางการค้าการลงทุน การเชิญผู้นำเข้าจากต่างประเทศมาเยือนประเทศไทยในช่วงงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ในเดือนกันยายนนี้ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาการซื้อขายสินค้าผ่าน E-commerce เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยผ่านแคมเปญ Thailand Magic Hands: the Spirit of Jewelry Making ในตลาดสำคัญทั้ง UAE อินเดีย และอิตาลี พร้อมทั้งการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับยังเติบโตได้ดี
ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2562) ประเทศไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมูลค่ารวม 7,245.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าพลอย ไข่มุก และเครื่องประดับเทียมขยายตัว 19.72%, 46.22% และ 6.40% ตามลำดับ โดยตลาดอินเดียได้แรงหนุนจากการส่งออกพลอย ไข่มุกและอัญมณีสังเคราะห์ ทำให้มูลค่าส่งออกพุ่งถึง 95.14% ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น 27.12% จากพลอยและเครื่องประดับอัญมณีเทียม ตามด้วยตลาด UAE ภาพรวมเพิ่มขึ้น 4.37%
ขณะที่การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 3,848.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.45% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกไปตลาดหลัก เช่น ฮ่องกงและสหรัฐ หดตัวลงถึง 7.67% และ 3.48% ตามลำดับ จากผลกระทบสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน
ในส่วนของกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการได้พบคู่ค้าใหม่ๆ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดงานใหญ่ระดับสากล งานแสดงสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับ Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 64 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน 2562 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และลงทะเบียนเข้าชมงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ล่วงหน้าได้ที่ เว็บไซต์ www.bkkgems.com