ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เปิดหลักสูตร MMP เมื่อปี พ.ศ. 2527 คณะฯ ได้ปรับปรุงเนื้อหาให้คงความทันสมัยอยู่เสมอเพื่อ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ที่ต้องการมีความรู้ทางด้านการบริหารธุรกิจ พัฒนาองค์กร พัฒนาแบรนด์ และพัฒนาประเทศชาติ ขณะเดียวกัน ผู้บริหารที่แม้จะประสบความสำเร็จในอดีต ก็ต้องเรียนรู้การบริหารภายใต้บริบทการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
"คณะฯ ได้คัดสรรเนื้อหาที่ก้าวล้ำ ได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำระดับชาติและนานาชาติ เพื่อให้ผู้เรียนซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เกิดแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ ในการบริหารจัดการ โดยใช้เครื่องมือทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมาย แค่เสริมสร้างผู้บริหารยุคใหม่ให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่ต้องการให้เหนือกว่า" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ อธิบายเสริมว่า หลักสูตร MMP ของจุฬาฯ เป็นโครงการอบรมผู้บริหารระดับสูงที่มีความโดดเด่นเรื่องสัดส่วนของเนื้อหาความรู้ ที่มีมากกว่าโครงการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงทั่วไป โดยเนื้อหาความรู้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 และกิจกรรมการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ซึ่งก็สำคัญไม่แพ้กันคิดเป็นร้อยละ 40
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. สุพล ดุรงค์วัฒนา ประธานหลักสูตร MMP กล่าวเสริมว่า ปีนี้ถือเป็นการปรับโฉมหลักสูตร MMP ใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริหารในยุคการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น ผู้นำองค์กรต้องปรับวิสัยทัศน์ และ กระบวนการทางความคิด (Mindset) ของตัวเองครั้งใหญ่ เพื่อพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ หรือที่เรียกกันว่า ความพลิกผันจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption)
"คณะกรรมการหลักสูตรได้ยกเครื่องหัวข้อและเนื้อหา จากเดิมเป็นการกำหนดตามฟังก์ชั่นของธุรกิจ เช่น การผลิต การตลาด การบัญชี การเงิน และการบริหารจัดการ แต่ปัจจุบัน การทำธุรกิจมีการผสมผสานแบบครบวงจร (integrated business) และมีพลวัตมากขึ้น ฉะนั้น เนื้อหาหลักสูตรปีนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด Unwrap the Unknown คือเปิดในสิ่งที่ยังไม่รู้"
รองศาสตราจารย์ ดร. สุพล อธิบายว่า มีหัวข้อใหม่ๆ เช่น Transformational Leadership ซึ่งผู้บริหารองค์กร ยุคใหม่ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเสมอ ขณะที่เรื่อง Disruptive Marketing, Digital Marketing, Rejuvenating Marketing และ Design Thinking ก็ล้วนเป็นหัวข้อสำคัญของ MMP ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้นำหลักการบริหารที่ทำให้องค์กรบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเจริญเติบโต ผ่านการลดต้นทุน เพิ่มยอดขายอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนาบุคลากรขององค์กร รวมถึง Wellness Management ซึ่งเป็นการบริหารความสุขและสุขภาพก็ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหาร เพราะสไตล์การบริหารที่มุ่งงานหนักของผู้บริหารจำนวนมากทำให้มีผู้บริหารมีปัญหาสุขภาพ และภาวะความเครียด ดังนั้น ผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงการดูแลเรื่องสุขภาพเพื่อให้สามารถบริหารธุรกิจไปได้อย่างสำเร็จยาวนาน
รองศาสตราจารย์ ดร. สุพล เน้นย้ำว่า นอกจากการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่แล้ว ยังมีการคัดเลือกวิทยากรที่มีประสบการณ์ในหัวข้อนั้นๆ และสามารถถ่ายทอดเนื้อหาที่ผู้เรียนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง (executable) นำไปสู่โอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ หรือต่อยอดธุรกิจเดิม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยวิทยากรในการอบรมหลักสูตรปีนี้ อาทิ Mr.Harald Link ประธานกลุ่มบริษัท บี. กริม, คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส), คุณดลชัย บุณยะรัตเวช ประธาน บริษัท เดนท์สุ วัน, คุณวรภัค ธันยาวงษ์ ที่ปรึกษา บริษัท แมคเคนซี่, อาจารย์ เผ่าทอง ทองเจือ นักโบราณคดีชื่อดัง, และคณาจารย์จากภาควิชาการตลาด คณะบัญชีฯ จุฬาฯ อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร, ดร. เอกก์ ภทรธนกุล, ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจหลักสูตร MMP - Modern Management Program สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะบัญชีฯ จุฬาฯ โทร. 0-2218-5701