นักวิจัยนาโนเทคโนโลยี จากสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2562

พฤหัส ๐๑ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๓:๕๔
ผศ.ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผู้คิดค้นและพัฒนาวัสดุกราฟีนสู่นวัตกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2562 รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 37 โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า การพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นต้องอาศัยนักวิจัยในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือการใช้งานด้านต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้โมเดล "ประเทศไทย 4.0" ของรัฐบาล

"จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ใน 140 ประเทศทั่วโลกล่าสุด (The Global Competitiveness Report) พบว่า ระดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 38 และความ สามารถด้านนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 51 โดยมี R&D expenditures อยู่อันดับที่ 54 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ จากการจัดอันดับของ nature index ranking พบว่า ขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก จาก 161 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่ม Asia Pacific จาก 29 ประเทศ และเมื่อพิจารณาในกลุ่ม ASEAN 10 ประเทศ อันดับ 1 คือประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยประเทศ เวียดนาม มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ในขณะที่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยพบว่ามีเพียง 6.7 % เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์"

ดังนั้น การที่จะยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด และเปลี่ยนจากการเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศ การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การสนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยขั้นแนวหน้า และการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร ฯลฯ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และให้ทันต่อการพัฒนาโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อันเป็นการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง

สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ผศ.ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) "ผู้คิดค้นและพัฒนาวัสดุกราฟีนสู่นวัตกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า" ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2562 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท

จากปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเฉียบพลัน และการขาดแคลนแหล่งพลังงาน ทำให้วงการวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากยังประสบปัญหาด้านความต่อเนื่องของการผลิตพลังงาน จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์กักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง และมีความจุเพียงพอที่จะใช้งานได้ในระยะยาวควบคู่กัน ผศ.ดร.มนตรี ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านนาโนเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลักดันให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในด้านอุปกรณ์เชิงไฟฟ้าเคมีหลากหลายชนิด จึงได้คิดค้นและพัฒนาวัสดุกราฟีนแอโรเจลที่มีพื้นที่ผิวและรูพรุนจำเพาะสูง ลดการซ้อนทับกันของแผ่นกราฟีน เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์ตัวเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวด แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมซัลเฟอร์ และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานแบบผสมที่มีประสิทธิภาพสูง พบว่าให้ค่าการเก็บประจุสูงที่สุดเมื่อเทียบกับวัสดุตั้งต้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมมากมาย รวมไปถึง การก่อตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน" (Centre of Excellence for Energy Storage Technology, CEST) และ โรงงานต้นแบบสำหรับผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน ณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จังหวัดระยอง

ด้วยผลงานที่มีคุณภาพ ผศ.ดร.มนตรี จึงได้มีบทบาทหน้าที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติด้านต่าง ๆ และมีผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง รวมถึงได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับโลกมากมาย โดยได้พัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า แบบถ่านกระดุม แบบกระเป๋า และแบบทรงกระบอก ในระดับโรงงานต้นแบบ มีการสร้างเทคโนโลยีอุปกรณ์กักเก็บพลังงานของประเทศไทย ที่สามารถที่สามารถใช้งานได้ในหลากหลายอุปกรณ์ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า

โดย ภายใน 2 ปีนับจากนี้ ผศ.ดร.มนตรี มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ ที่สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้ในปัจจุบันสูงถึง 3 - 5 เท่า ซึ่งจะทำให้แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้ามีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น จากปัจจุบัน 5-6 ปี เป็น 10 ปี และจะพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ ที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ระยะไกลขึ้นถึง 1,000 กิโลเมตร ขณะที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน วิ่งได้ระยะ 400-500 กิโลเมตร และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าถึง 5 เท่า โดยคาดว่าภายใน 5 ปีจากนี้ แบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ จะเข้ามาแทนที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และหากเทคโนโลยีพัฒนาจนทำให้ต้นทุนต่ำลง จะมีผลทำให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าถูกลง สามารถต่อยอดสู่การผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของไทยได้เอง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ประเทศในระยะยาว

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2562 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่

1. ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผลงานวิจัย "ตัวพาอนุภาคนาโน เพื่อการนำส่งยาในร่างกายอย่างแม่นยำ"

2. ผศ.ดร.เอกพันธ์ ไกรจักร์ อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงานวิจัย "ความหลากหลายนิเวศวิทยาและวิวัฒนาการของไบรโอไฟต์และไลเคนส์"

3. ผศ.ดร.ภูวดล ธนะเกียรติไกร อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลงานวิจัย "นวัตกรรมนิติพันธุศาสตร์ แก้ไขปัญหาความมั่นคง"

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ "การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม" นำโดย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, คุณอรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และดร.วิไลพร เจตนจันทร์ Principal Innovation Advisor Office of the President and CEO SCG

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version