SR จรดปากการับงาน IRPC มูลค่าเฉียด 500 ลบ. โปรเจ็คโซลาร์ลอยน้ำ จ.ระยอง ขนาดใหญ่สุดในไทย วางเป้า 3-5 ปี ธุรกิจพลง.ทดแทนและสัมปทานที่จอดรถโตเพิ่มกว่า 50%

พฤหัส ๐๑ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๐๒
SR ประกาศความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ เซ็นรับงานออกแบบ จัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์งานก่อสร้าง โครงการต้นแบบสำหรับโซลาร์ลอยน้ำ แห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ขนาดกำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ มูลค่าเฉียด 500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถติดตั้งและดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 ฟาก "เกียรติ วิมลเฉลา" ประธานกรรมการบริหาร ประกาศพร้อมวางเป้า 3-5 ปี ธุรกิจพลังงานทดแทนและสัมปทานที่จอดรถโตเพิ่มกว่า 50%

นายเกียรติ วิมลเฉลา ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามราช จำกัด (มหาชน) (SR) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ร่วมลงนามในสัญญารับเหมาก่อสร้าง โครงการ Engineering, Procurement and Construction, Commissioning (EPCC) of Floating Solar Power 12.5 MWp. มูลค่างานโครงการ 493 ล้านบาท กับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) โดยโครงการอยู่ที่จังหวัดระยอง และถือเป็นโครงการต้นแบบสำหรับ Floating Solar Power ที่จะใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเมื่อสร้างแล้วเสร็จ

สำหรับงานโครงการดังกล่าว บริษัทฯเป็นผู้รับจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) โดยรับผิดชอบในส่วนการทำงานออกแบบ งานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์งานก่อสร้าง งานทดสอบระบบและรับประกันผลงานสำหรับงานโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ระยะเวลางานโครงการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 คาดว่าจะสามารถติดตั้งและดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ภายในไตรมาสแรก ของปี 2563 รวมระยะเวลาทำงานทั้งสิ้น 9 เดือน

"ต้องขอขอบคุณ บมจ.ไออาร์พีซี ที่มอบโอกาสให้กับสยามราชฯ ให้ทำงานรับเหมาก่อสร้างและออกแบบในโครงการโซลาร์ลอยน้ำต้นแบบในครั้งนี้ เรามั่นใจว่าด้วยศักยภาพของทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย" ประธานกรรมการบริหาร กล่าวต่อ "นับต่อจากนี้บริษัทจะมุ่งเน้นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและสม่ำเสมอ โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจพลังงานทดแทนและสัมปทานที่จอดรถเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าในอนาคตภายใน 3 – 5 ปี สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มมากกว่า 50% ในแง่ผลตอบแทน

ด้าน นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า "บริษัทฯ ดำเนินการลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ขนาด 12.5 เมกะวัตต์ (MW) ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง คาดว่าจะสามารถติดตั้งและดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ภายในไตรมาสแรก ของปี 2563 ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังเป็นการใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกของ IRPC ที่คิดค้นเพื่อให้เหมาะสมสำหรับการผลิต ทุ่นลอยน้ำของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีการรับประกันอายุการใช้งานของวัสดุได้ไม่ต่ำกว่า 25 ปี"

"นวัตกรรรมเม็ดพลาสติก HDPE เกรด P301GR เป็นเกรดพิเศษสำหรับทุ่นลอยน้ำ Floating Solar เหมาะสมอย่างยิ่งกับสภาวะแวดล้อมและภูมิอากาศของประเทศไทย IRPC จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้ทุ่นลอยน้ำที่จะเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มที่ประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น" นายนพดล กล่าวในที่สุด

ข้อมูลเพิ่มเติม

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) (IRPC) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม รวมถึงโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่บ่อน้ำให้เกิดประโยชน์ จึงมีนโยบายและแผนงานที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาใช้เป็นพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่กลุ่มสถานประกอบการไออาร์พีซี ภายใต้ชื่อ "โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar power project) บริษัทบ่อน้ำ ขนาด 12.5 เมกะวัตต์

สำหรับทุ่นลอยน้ำ Floating Solar ผลิตจากเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene: โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง) เกรดพิเศษ P301GR โดยออกแบบให้เนื้อพลาสติกเป็นสีเทามีคุณสมบัติการใช้งานที่โดดเด่นเหมาะสำหรับการผลิตทุ่นลอยน้ำของ Floating Solar ที่ช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิวของแผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุด ปราศจากสารพิษที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลได้ และรับประกันอายุการใช้งานของวัสดุได้ไม่ต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจากมีความทนทานต่อแสงยูวี (UV resistance) ความทนทานต่อสารเคมี (Chemical resistance) และความเสถียรต่อความร้อน (Thermal stabilization)

ด้วยคุณสมบัติที่ดีของผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก HDPE เกรด P301GR เกรดพิเศษเฉพาะทุ่นลอยน้ำ Floating Solar ซึ่งผลิตภายในประเทศ สามารถนำไปใช้ในโครงการพลังงานทดแทนของภาครัฐและเอกชน ช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้า โดยบริษัทฯ มองถึงการต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ