การจัดงานครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังระหว่างหัวเว่ย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และพันธมิตรในอุตสาหกรรมอย่างจีเอสเอ็ม (Global System for Communications) โดยจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับเทรนด์การใช้งาน IoT ที่เกิดขึ้นทั่วโลก คุณค่าของ IoT ต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คน ตลอดจนแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT จากผู้พัฒนาและผู้ใช้งานทั้งในระดับโลกและในไทย
ในงานจะมีการเผยแพร่รายงานสมุดปกขาวเรื่อง อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ของประเทศไทย (Thailand IoT Industry) อย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยแนะนำแนวทางการพัฒนาธุรกิจแก่สตาร์ทอัพด้าน IoT และกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ รวมถึงแนะนำอุปกรณ์และบริการ IoT ต่างๆ ครอบคลุมทั้งในด้านสมาร์ทซิตี้ สมาร์ทอินดัสทรี่ และสมาร์ทไลฟ์จากเวนเดอร์ระดับโลกและในประเทศอีกด้วย
จากข้อมูลของ GSMA Intelligence เผยว่า ทั่วโลกมีการเปิดใช้งานเครือข่าย Mobile IoT เชิงพาณิชย์ไปแล้วทั้งสิ้น 114 เครือข่ายนับจนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และคาดว่าการเชื่อมต่อ IoT ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 หมื่นล้านในปี 2568 โดย GSMA Intelligence คาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะเป็นภูมิภาคที่มีรายได้สูงสุดราว 3.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่รายได้จาก IoT ทั่วโลกจะเติบโตสูงกว่าราวสี่เท่า คิดเป็นมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 อันเป็นผลมาจากการผลักดันส่งเสริมของรัฐบาลและการเชื่อมต่อ IoT ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรม
"Internet of Thing (IoT) กำลังจะกลายเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของ 5G ในอนาคต ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี IoT ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล ผู้มีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมทั้งไทยและต่างประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี IoT กันมากยิ่งขึ้น" มร. เติ้ง เฟิง โฆษก บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
สำหรับประเทศไทยนั้น เทคโนโลยี IoT ได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ยุคดิจิทัล สร้างมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับสูง ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ได้วางโครงข่าย NB-IoT ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีตัวอย่างการใช้งาน อาทิ อุปกรณ์ติดตามรถ อุปกรณ์ดูแลเด็ก และการจอดรถอัจฉริยะซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีการใช้งานในเชิงพาณิชย์แล้ว นวัตกรรมต่างๆ อาทิ สมาร์ทมิเตอร์และอุปกรณ์ติดตามวัว (Connected Cow) ก็ได้เข้ามาทดลองใช้งานในประเทศไทยแล้วเช่นกัน
ระหว่างงานสัมมนา ตัวแทนผู้บริหารของหัวเว่ยจะอธิบายถึงกลยุทธ์ด้านบริการคลาวด์ IoT และโซลูชั่นแพลตฟอร์ม IoT ซึ่งช่วยให้พันธมิตรสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ IoT ได้อย่างง่ายดายและต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้
มร. เวนิ ชอน ประธานบริษัท HiSilicon (เซี่ยงไฮ้) จะเป็นผู้อธิบายถึงการพัฒนา NB-IoT ในระดับโลกและแนวโน้มของเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ตลอดจนบรรยายถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่เทคโนโลยี IoT จะนำมาสู่ประเทศไทย