การสัมมนา เรื่อง การคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ให้กับประชาชน ภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 6/2562

จันทร์ ๐๕ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๕๗
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยผลการสัมมนา เรื่อง การคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้กับประชาชน ภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 6/2562 ที่จัดขึ้นโดยสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2562 เวลา 08.15 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมธาราทิพย์ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ฮ่องสอน รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าการสัมมนาครั้งนี้เป็นการจัดสัมมนาวิชาการครั้งที่ 6 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความมั่นใจในประเด็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ทั้งในด้านการคุ้มครองเงินฝาก การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ภัยทางการเงิน การตรวจสอบข้อมูลเครดิต การลงทุน การออมเพื่อการเกษียณ และการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาทั้งสิ้น 200 คน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย สหกรณ์ และผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี นางสาววิมล ชาตะมีนา ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนาและได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ สศค. ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งในส่วนของนโยบายด้านการคลัง นโยบายด้านภาษี นโยบายทางด้านการเงิน นโยบายด้านการออมและการลงทุน และนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พร้อมทั้งได้กล่าวถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ซึ่งมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี

การสัมมนาภาคเช้า หัวข้อ "ครบถ้วนทุกมิติความรู้และความคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน" โดยวิทยากรประกอบด้วย นางปิยาภรณ์ โพธิ์กลิ่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) นายวงศ์วริศ ดุลยนิติโกศล รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และ นายนันทวัฒน์ สังข์หล่อ ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ โดยมี นายอมรศักดิ์ มาลา เศรษฐกรชำนาญการ ส่วนนโยบายคุ้มครองเงินฝาก สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. ทำหน้าที่เป็น

ผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญของการสัมมนาในภาคเช้าจะครอบคลุมสาระสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองเงินฝากเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในภาพรวม ซึ่งรวมถึงประวัติความเป็นมา และบทบาทหน้าที่ของ สคฝ. ในการดำเนินนโยบายด้านการคุ้มครองเงินฝาก ตลอดจนการปรับปรุงวงเงินความคุ้มครองและกระบวนการจ่ายเงินฝากคืนให้แก่ผู้ฝากเงินให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 2) ระบบข้อมูลเครดิต ซึ่งรวมถึงพันธกิจและบทบาทของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ในการจัดเก็บ

การประมวลผล รูปแบบของรายงานข้อมูลประเภทต่าง ๆ รวมถึงช่องทางวิธีการในการขอตรวจสอบและขั้นตอนแก้ไขข้อมูลเครดิตในการใช้บริการทางการเงินของประชาชนต่อไป 3) บทบาทของ ธปท. ในด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ทักษะทางการเงิน ได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ใช้บริการทางการเงินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดจนมีการแนะนำแนวทางการป้องกันตนจากภัยทางการเงินที่สำคัญ ได้แก่ ภัยจากการหลอกลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ การคัดลอกข้อมูลจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ภัยจากคอลล์เซ็นเตอร์ และภัยจากการหลอกลงทุนในเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ ตลอดจนแนวทางการร้องเรียนของผู้ใช้บริการทางการเงินเมื่อประสบภัยทางการเงินดังกล่าว

การสัมมนาภาคบ่าย เป็นการสัมมนาต่อเนื่องในหัวข้อ "ครบถ้วนทุกมิติความรู้และความคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน" ดำเนินรายการโดย นางสาวณปภัช เรียงแหลม เศรษฐกรปฏิบัติการ ส่วนนโยบายการประกันภัย สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. โดยวิทยากร นางสาวปิยาภรณ์ ครองจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสาระสำคัญ คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการออมและการลงทุนของประชาชนไทยเพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บออมเงินไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ ตลอดจนได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการนำงบดุลส่วนบุคคล งบรายได้และงบค่าใช้จ่าย มาเป็นเครื่องมือในการประเมินฐานะทางการเงินและพฤติกรรมการใช้จ่ายของแต่ละบุคคล เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคล ส่วนช่วงที่สองโดยวิทยากร นายปุริม คัชมุกข์ เศรษฐกรชำนาญการ ส่วนนโยบายการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. บรรยายเผยแพร่สาระสำคัญบทบาทของการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา หรือ "เอสโครว์ (Escrow)" ในการเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นหลักประกันให้แก่คู่สัญญาที่ทำสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขาย โดยมี "คนกลาง" หรือ "ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Agent)" เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้อย่างแน่นอนโดยสรุป การสัมมนาทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน อันจะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

นอกจากนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 เวลา 8.30 – 12.00 น. สศค. ยังได้จัดกิจกรรมโครงการการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการคุ้มครองเงินฝากและการบริหารจัดการทางการเงินแก่เยาวชนให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 105 คน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจและได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากนักเรียน ผู้บริหาร และคณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก

สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3691 – 2

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ