ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง คนต่างเจน กับการรับรรู้ข่าวการไฟฟ้า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,275 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 1 – 6 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า
ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.3 รับรู้ข่าวสารของกฟผ.ผ่านโทรทัศน์ รองลงมาคือร้อยละ 42.7 รับรู้ผ่าน Facebook ของ กฟผ. ร้อยละ 21.2 รับรู้ผ่าน Youtube ของ กฟผ. ร้อยละ 19.3 รับรู้ผ่านวิทยุ และร้อยละ 17.9 รับรู้ผ่านเว็บไซต์ของ กฟผ. (www.egat.co.th) ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ หลังจากจำแนกออกตามช่วงอายุหรือ Generation ของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่ม Baby Boom & Silent (55 ปีขึ้นไป) ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.0 รับรู้ข่าวสาร กฟผ. ผ่านโทรทัศน์มากที่สุด รองลงมาคือ GEN X (40-54 ปี)ร้อยละ 72.3 GEN Y (23-39 ปี) ร้อยละ 68.4 และ GEN Z (ไม่เกิน 22 ปี) ร้อยละ 52.4 อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนตอบแบบสอบถามในกลุ่ม GEN Y และ GEN Z มีสัดส่วนของคนที่รับรู้ข่าว กฟผ. ผ่านทาง Facebook ร้อยละ 22.3 และ ร้อยละ 16.9 มากกว่ากลุ่ม Baby Boom & Silent ที่มีอยู่เพียงร้อยละ 4.7 นอกจากนี้ กลุ่ม GEN Y และ GEN Z มีสัดส่วนของคนที่รับรู้ข่าว กฟผ. ผ่าน Youtube ร้อยละ 27.6 และร้อยละ 21.1 มากกว่ากลุ่ม GEN X ร้อยละ 18.8 และกลุ่ม Baby Boom & Silent ร้อยละ 3.5 ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ผลโพลนี้แสดงให้เห็นว่า คนต่างเจน มีการรับรู้ข่าวแตกต่างกัน คนในช่วงอายุกลุ่ม Baby boom และ Silent (55ปีขึ้นไป) มีการรับรู้ข่าวสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผ่านทางช่องทางสื่อแบบออฟไลน์อย่างโทรทัศน์มากที่สุด ซึ่งสวนทางกลับกลุ่มอายุน้อยอย่าง Gen Y และ Gen Z ที่มีการรับรู้ข่าวสารของ กฟผ. ผ่านทางช่องทางออนไลน์เช่น Facebook และ youtube สูงกว่ากลุ่มคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปนั้นเป็นเพราะการเปิดรับทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีของกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นมีสูงกว่ากลุ่มคนที่มีอายุเยอะเนื่องจากกลุ่ม Baby boom และ Silent Gen นั้นเกิดและเติบโตในช่วงที่เทคโนโลยียังไม่ถูกพัฒนามากนักและเครื่องมือการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างหรือคอมพิวเตอร์ที่นำมาเชื่อมต่อกับ facebook และ youtube นั้นมีราคาที่สูงกว่ายุคปัจจุบันนั่นเอง
เมื่อถามถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวข้องกับ กฟผ. ที่ได้รับ พบว่า ร้อยละ 45.4 ระบุ การอนุรักษ์และลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รองลงมาคือ ร้อยละ 39.9 ระบุ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ร้อยละ 32.3 ระบุ กิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชนสัมพันธ์ ร้อยละ 25.9 ระบุ การผลิตจัดหาและจัดส่งไฟฟ้า และร้อยละ 19.7 ระบุ การบริหารจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อม
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า กฟผ. นั้นมีการเผยแพร่ข่าวสารด้านการอนุรักษ์พลังงานและความก้าวหน้าทางนวัตกรรมถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดีแต่เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มคนกรุงเทพมหานคร กับ กลุ่มคนต่างจังหวัด พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มคนต่างจังหวัดร้อยละ 46.0 ระบุรับรู้ข้อมูลการอนุรักษ์และลดการใช้พลังงานไฟฟ้า มากกว่า กลุ่มคนกรุงเทพฯร้อยละ 44.0 ในขณะที่ข้อมูลข่าวสารด้านอื่นๆ หลายตัวชี้วัด กลุ่มคนกรุงเทพฯ มีสัดส่วนของคนที่รับรู้ข่าวสารมากกว่ากลุ่มคนต่างจังหวัด เช่น กลุ่มคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 45.1 กลุ่มคนต่างจังหวัดร้อยละ 37.9 รับรู้ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า กลุ่มคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 34.5 กลุ่มคนต่างจังหวัด ร้อยละ 22.7 รับรู้การผลิตจัดหา และจัดส่งไฟฟ้า กลุ่มคนกรุงเทพฯร้อยละ 23.7 กลุ่มคนต่างจังหวัดร้อยละ 18.2 รับรู้การบริหารจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ
"ผลโพลนี้แสดงให้เห็นด้วยว่า กลุ่มคนต่างจังหวัดรับรู้ข่าวสารการอนุรักษ์และลดใช้พลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ใกล้เคียงกับกลุ่มคนกรุงเทพฯ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มคนกรุงเทพฯรับรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าสูงกว่ากลุ่มคนต่างจังหวัดถึงร้อยละ 7.20 เป็นเพราะกลุ่มคนกรุงเทพฯนั้นมีการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารในจำนวนที่มากกว่ากลุ่มคนต่างจังหวัด" ผศ.ดร.นพดล กล่าว