จุฬาฯ ผนึกกำลังกระทรวงท่องเที่ยว-อพท. รุกพัฒนาท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ น่าน-อันดามัน เสริมศักยภาพท้องถิ่นและชุมชนด้วยนวัตกรรม

พฤหัส ๐๘ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๐:๐๐
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุกสร้างเครือข่ายพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ อพท. เพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน เน้นเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นและชุมชนด้วยนวัตกรรม ปักหมุดน่านและอันดามันพื้นที่ต้นแบบ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน "โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์" ร่วมกับนายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) - อพท. ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานหลักด้านการท่องเที่ยวอย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ อพท. นับเป็นอีกก้าวสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นและชุมชน โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก

"อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ผ่านมาจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ประกอบกับการที่ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางเป็นเวลานาน จากปัญหาเหล่านี้ จึงได้เกิดแนวคิดการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวที่นอกเหนือจากการท่องเที่ยวกระแสหลัก ซึ่งแนวคิดนี้ก็ยังสอดคล้องกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พ.ศ. 2558 – 2562 รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรองของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ต้องการลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่"

โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Development of Creative Tourism) เป็นหนึ่งในชุดโครงการแผนพัฒนาวิชาการ "สร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2" ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับนักวิจัยจากสหสาขาวิชาจาก 11 คณะและสถาบัน บูรณาการศาสตร์ ความรู้และความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ประกอบด้วย ชุดโครงการที่ 1 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดน่าน และ ชุดโครงการที่ 2 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน 54.4 ล้านบาท

สำหรับโครงการชุดที่ 1 พื้นที่จังหวัดน่าน ประกอบด้วย 8 โครงการย่อย ซึ่งคณะผู้วิจัยจะทำการศึกษาการพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดน่านในบริบทเชิงธรรมชาติ สุขภาพและวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว การผลิตสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ โดยใช้ภูมิปัญญาและต้นทุนทางวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทั้งในด้านการจัดการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดน่าน การจัดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอิสระชาวจีนที่จะมาท่องเที่ยวในจังหวัดน่านเพิ่มขึ้นเมื่อการเดินทางระหว่างน่านและหลวงพระบางสะดวกขึ้นในอนาคตอันใกล้

โครงการชุดที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย โดยจะทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเบื้องต้นเกี่ยวกับชาวเล คนไทยพลัดถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ในมะริด จัดทำเอกสารสื่อความหมายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของศูนย์วัฒนธรรมหรือพิพิธภัณฑ์ ภายใต้กรอบแนวคิดการมีส่วนร่วมในชุมชน ยกระดับและเพิ่มศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วยการจัดการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างอันดามันและเมียนมา รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชน และสร้างพื้นที่สื่อสารระหว่างชุมชน นักท่องเที่ยวและพื้นที่สาธารณะ

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบความร่วมมือพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ระหว่าง 3 หน่วยงาน จะครอบคลุมการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ร่วมมือในการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน 2. ร่วมมือในการสนับสนุนด้านงานวิจัย เพื่อสร้างและพัฒนานักวิจัย ตลอดจนจัดการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และ 3. นำองค์ความรู้และผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาประเทศ

"การลงนามครั้งนี้ เป็นการสร้างมิติความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนบนฐานทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่มีอยู่ ยกระดับพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนพื้นฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนและการกระจายรายได้สู่ชุมชน ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและสังคมไทย"

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยว ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งได้กำหนดแนวทางหนึ่งในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายการกระจายรายได้สู่พื้นที่เมืองรอง โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพิ่มรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่กระทรวงฯ จะต้องเร่งขับเคลื่อนในระยะ 5 ปีแรก

"เป้าหมายภายใต้แผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญประเด็นหนึ่ง คือ สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวพื้นที่เมืองรองเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จึงเป็นการดำเนินการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชนอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เมืองรอง ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีความนิยมในอัตลักษณ์ของสินค้าและบริการท้องถิ่น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน ยังมีความต้องการให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอีกมาก และผลิตภัณฑ์ ดังกล่าว ยังสามารถต่อยอดเป็นสินค้าที่ระลึกของชุมชน เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ใหม่"

นอกจากการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างสร้างสรรค์แล้ว การพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรมนุษย์ในด้านการสร้างภาคเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน ยังทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อันจะเป็นรากฐานและกลไกสำคัญในการผลักดันให้การพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยประสบความสำเร็จ

ด้าน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า อพท. มีภารกิจหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น โดยมี "แผนขับเคลื่อน อพท. ระยะ 4 ปี (2562-2565)" ภายใต้วิสัยทัศน์"เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข" และมีพันธกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ 4 ประการ ดังนี้ (1) พัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวโดยชุมชน (2) พัฒนาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน (3) ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน และ (4) บูรณาการร่วมกับทุกภาคีเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

"ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน ๑๖ ปีที่ผ่านมา อพท. ตระหนักดีว่า ชุมชนท้องถิ่นคือเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่แท้จริง และการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้นั้น ผลประโยชน์จะต้องเกิดกับคนในชุมชน ดังนั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง และใช้เวลาอยู่ในชุมชนนานขึ้น ใช้จ่ายในชุมชนมากขึ้น จึงนับเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป"

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังกล่าวด้วยว่า "จุฬาฯ มุ่งหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้ นอกเหนือมิติด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวตามนโยบายของภาครัฐแล้ว ยังมีเป้าหมายหลักให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ผนวกเข้ากับนวัตกรรมที่เชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัย หลังจากสิ้นสุดโครงการแล้วจะมีการทำวิจัยเพื่อการถอดบทเรียน และการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาค"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย