ASIAN เดินหน้าตามแผนลุยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน เผยต้นทุนปรับโครงสร้างกิจการ-เงินบาทแข็งค่าฉุดกำไรไตรมาส 2 ลดลง

พฤหัส ๐๘ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๒๘
ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด หรือ ASIAN ยังคงเดินหน้าตามแผนลุยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน ล่าสุดเข้าซื้อหุ้นสามัญบริษัท Shangdong Thaiya Meisi Pet foods Co.,Ltd. ในประเทศจีนแล้ว 10% เตรียมซื้อเพิ่มอีก 41% คาดดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2562 นี้ หลังได้หุ้น 51% ตามแผน จะเร่งขยายผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นแบรนด์ "มองชู" และ OEM ขณะที่ธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง ยังอยู่ในช่วงปรับตัวตามแผนกลยุทธ์สู่ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า (Value-Added) อย่างเต็มรูปแบบ เผยกำไรไตรมาส 2 ปีนี้ลดลง เหตุค่าเงินบาทแข็งค่าฉุดผลประกอบการ ต้นทุนในการปรับโครงสร้างกิจการและสัดส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงลดลง

นาย เฮ็นริคคัส แวน เวสเทนดร็อป ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน กลุ่มบริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดไตรมาส 2/2562 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 1,971 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 2,316 ล้านบาท หรือลดลง 14.9% สาเหตุหลักมาจากยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงลดลง 24% และการลดการขายผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ยอดขายอาหารทะเลแช่เยือกแข็งลดลง 13% และจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 3% ขณะที่ยอดขายกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาชดเชยได้เล็กน้อย

สำหรับกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวดไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ 76 ล้านบาท ลดลง 17.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการที่กำไรสุทธิสำหรับงวดลดลงมาอยู่ที่ 22 ล้านบาท เทียบกับ 92 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 8.2% เทียบกับที่ระดับ 11.8% ในไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากต้นทุนในการปรับโครงสร้างกิจการและการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงลดลง โดยที่สัดส่วนรายได้ในไตรมาสนี้มาจากธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง 37% และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 29% ของรายได้รวมตามลำดับ ทั้งนี้ ASIAN มองธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง จะเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนมากที่สุดภายในปีหน้า เนื่องจากตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเติบโตสูง และแผนการลงทุนเพิ่มและการขยายตลาดไปยังประเทศจีนในปัจจุบันเป็นไปตามแผน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ มองชู ซึ่งเป็นแบรนด์ของตนเองก็วางตลาดแล้วทั้งในไทย และในจีน และได้รับการตอบรับจากตลาดทั้ง 2 ที่เป็นอย่างดี

ธุรกิจอาการสัตว์เลี้ยงและปลาป่น ปริมาณขายลดลงราว 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากยอดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศแถบทวีปอเมริกาเหนือลดลงชั่วคราว โดยลูกค้ารายใหญ่ดำเนินนโยบายลดปริมาณสินค้าคงคลัง ทำให้ลดปริมาณคำสั่งซื้อลงตลอดทั้งไตรมาส อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ ปริมาณส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากการที่ยอดส่งออกไปยังทวีปอเมริกาเหนือจะกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติ ขณะที่ค่าเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องในไตรมาส 3 อาจส่งผลกระทบต่อรายได้และอัตรากำไร เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงกำหนดราคาในสัญญาที่ค่อนข้างนานราว 6 เดือน หากสถานการณ์ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง ในไตรมาส 3 บริษัทฯ ก็จะปรับขึ้นราคาสินค้ามาชดเชย

ในส่วนของการลงทุนซื้อหุ้น 51% ของบริษัท Shangdong Thaiya Meisi Pet foods Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ดในประเทศจีนนั้น ขณะนี้บริษัทได้ดำเนินการซื้อหุ้นรอบแรกจำนวน 10% เรียบร้อยแล้วในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ล่าสุด บริษัทฯอยู่ระหว่างการดำเนินการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท Shangdong Thaiya Meisi Pet foods Co.,Ltd. เพิ่มอีกร้อยละ 41 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2562 นี้

โดยบริษัท Shangdong Thaiya Meisi Pet foods Co.,Ltd. เป็นโรงงานใหม่ ที่มีกำลังการผลิตอาหารสุนัขและแมว แบบเม็ดรวมกันราว 20,000 ตันต่อปี ซึ่งผลิตให้กับเจ้าของแบรนด์ในประเทศจีน โดยในไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัท เอเชี่ยนอะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะเข้าไปปรับปรุงคุณภาพภายในโรงงาน และจะทำการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์และสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติม ในไตรมาส 4 คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตให้กับแบรนด์สัญชาติอื่นที่ต้องการขยายผลิตภัณฑ์เข้ามาในตลาดประเทศจีนได้

ธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง ยอดขายเชิงปริมาณในไตรมาส 2 นี้ ลดลง 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกุ้งและปลาทรายที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายในการลดผลิตกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า (Value-Added)

ธุรกิจทูน่า มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 11% ของรายได้รวม ปริมาณขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ยอดขายเป็นบาทลดลงราว 5% เป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยนและราคาทูน่าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ฐานลูกค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเฉพาะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มทูน่าบรรจุถุงเพาซ์ มีอัตรากำไรอยู่ในเกณฑ์ดี และไม่มีการเก็งกำไรในทูน่าอีก แต่เน้นขายและซื้อในปริมาณและราคาสอดรับกัน คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังปริมาณขายผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเพิ่มสูงขึ้น

ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 14% ของรายได้รวม ยอดขายลดลง 2% และธุรกิจจัดจำหน่าย มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 9% ของรายได้รวม โดยไตรมาส 2 นี้ถือว่าเป็นไตรมาสที่ดีในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ เพราะมียอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงเพิ่มขึ้นมาก และการปรับปรุงคุณภาพได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่เป็นเกษตรกรมืออาชีพ ส่งผลให้มีแนวโน้มว่าจะสามารถขยายตลาดได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่า ASIAN จะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา จากการขยายตลาด และโฟกัสธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต มีความสามารถในการทำกำไร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ