นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องสุขภาพของประชาชน เนื่องจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม มากเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิด การสะสมจนเกิดภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอื่น ๆ ตามมา รวมถึงสถานการณ์ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้เร่งนำรูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารไปใช้ในโรงเรียน ผ่านโครงการ อย.น้อย ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ อย. สร้างขึ้น โดยมุ่งเน้นปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม เสริมสร้างความรู้ในการเลือกบริโภคอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบริโภคได้อย่างปลอดภัย มีสุขภาพดี พร้อมทั้งส่งต่อความรู้สู่ครอบครัวและชุมชน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในอนาคต
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา อย. ทำงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย เพื่อขยายผลการนำรูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นไปใช้ในโรงเรียน อย.น้อย และโรงเรียนเครือข่ายอื่น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และในปี พ.ศ.2562 ได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนเครือข่ายทั่วประเทศ ส่งผลงานการขยายผลการใช้รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรม ช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 – มีนาคม 2562 มายัง อย. เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของโรงเรียนในการพัฒนานักเรียน อย. น้อย ให้มีความรู้ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยมีโรงเรียนที่มีผลงานผ่านเกณฑ์ทั้งสิ้น 58 โรงเรียน ซึ่งได้มีการนำรูปแบบการพัฒนาพฤติกรรม การบริโภคอาหารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4 แผน ได้แก่ สุขภาพในอนาคต, อ่านฉลากสักนิด พิชิตสุขภาพดี, ฉลาดบริโภค โรคไม่ถามหา, บริโภคอย่างนี้สิ ดีต่อสุขภาพ และแผนการ จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 2 แผน ได้แก่ ลูกเต๋าแสนกล และ ช้อปปิ้ง ฉลาดคิด ไปขยายผลในโรงเรียนต่าง ๆ ได้มากถึง 455 โรงเรียน ตลอดจนมีการเผยแพร่ความรู้ไปยังกลุ่มผู้ปกครองและชุมชนใกล้เคียง ทำให้เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยในวันที่ 6 สิงหาคม 2562 อย. ได้จัดพิธีมอบรางวัล ณ ห้องทิพวรรณ บอลรูม โรงแรมริชมอนด์ สไตลลิส คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเครือข่าย อย.น้อย ที่สนับสนุนและร่วมมือกับ อย. ในการดำเนินงานพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเยาวชน เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตครูแกนนำ อย. น้อย จะสามารถนำรูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารไปขยายผลใช้ในโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เยาวชนไทย จะมีความรู้และมีพฤติกรรมในการเลือกบริโภคอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถบอกต่อไปยังผู้ปกครอง สังคมรอบข้าง ให้ร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีต่อไป