ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นผลมาจากการทบทวนการคาดการณ์ของฟิทช์ในด้านระยะเวลาของแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BAM ของภาครัฐ (privatisation) โดยฟิทช์มองว่ายังไม่มีความชัดเจนมากพอที่แผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐดังกล่าวจะสามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้ภายในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงเชื่อว่าแผนการดังกล่าวยังคงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะปานกลาง อนึ่งฟิทช์ได้ให้แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบแก่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAM มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อสะท้อนถึงแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐโดยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้หากมีสัญญาณหรือความชัดเจนมากขึ้นในด้านระยะเวลาของการเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ฟิทช์อาจทำการประเมินผลกระทบต่ออันดับเครดิตได้ทุกเมื่อในอนาคต
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAM มีปัจจัยในการพิจารณามาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ โดย BAM มีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท BAM ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 แม้บทบาทในเชิงนโยบายของ BAM ได้ปรับตัวลดลงเนื่องจากภาคการเงินของประเทศไทยได้ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้แผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐดังกล่าว ยังเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าภาครัฐไม่ได้มอง BAM ในฐานะองค์กรหลักของรัฐในระยะยาว อย่างไรก็ตาม BAM ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในฐานะที่เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีผลกำไรที่สม่ำเสมอ อีกทั้ง BAM ยังคงได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านสิทธิประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์ เช่น การให้ตราสารหนี้ของบริษัทสามารถนับเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ได้และการได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยสนับสนุนความสามารถในการระดมเงินกู้ยืมและผลประกอบการของบริษัท
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท เนื่องจากหุ้นกู้ประเภทดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัท
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAM น่าจะได้รับผลกระทบจากแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐและการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยอันดับเครดิตของ BAM อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากมีความชัดเจนหรือมีความคืบหน้ามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐ ซึ่งระดับของการปรับลดอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ของ BAM กับภาครัฐและสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐในอนาคต ทั้งนี้ฟิทช์น่าจะทำการพิจารณาอันดับเครดิตของ BAM จากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวบริษัทเอง (Stand-alone) หากสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐลดลงไปต่ำกว่า 50% และสิทธิประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์ถูกยกเลิก เนื่องจากการสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จากภาครัฐนั้นอาจไม่สามารถพึ่งพาได้ โดยในกรณีดังกล่าวจะส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAM ถูกปรับลดอับดับลงหลายอันดับ อีกทั้งปัจจัยในการพิจารณาอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ของฟิทช์ต่อโครงสร้างเครดิตและฐานะทางการเงินโดยรวมของบริษัทในอนาคตด้วย
การยกเลิกแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BAM และสัญญาณที่บ่งชี้ว่าภาครัฐจะยังคงให้การสนับสนุนในระยะยาว โดยการคงสัดส่วนการถือหุ้นใน BAM ของภาครัฐไว้ในระดับเดิม รวมทั้งการคงผลประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อบริษัท อาจส่งผลให้มีการทบทวนอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทใหม่
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAM น่าจะส่งผลกระทบในทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของหุ้นกู้
รายละเอียดทั้งหมดของอันดับเครดิตมีดังต่อไปนี้:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ 'AA-(tha)'; ปรับเป็น "แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ" จาก "แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ"
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'AA-(tha)'