วันนี้ (8 สิงหาคม 2562) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดงาน "Pathway to the Future เส้นทางสู่อนาคตที่ปลอดภัยของเด็กและเยาวชน" พร้อมลงนาม ประกาศเจตนารมณ์เพื่อการขับเคลื่อนความร่วมมือความปลอดภัยทางถนนสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน ร่วม 17 องค์กร ได้แก่ มสช. สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์-แห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมการขนส่งทางบก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมควบคุมโรค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สกอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยการบาดเจ็บในเด็ก Save the Children องค์กรช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) เพื่อส่งเสริมการพัฒนานโยบายความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยได้รับเกียรติจาก นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เป็นประธานลงนามประกาศเจตนารมณ์ ภายในงาน สัมมนาวิชาการระดับชาติ ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 14 "เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย" 14th Thailand Road Safety Seminar "Play your part and share the road" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก
นายพงศ์ธร จันทรัศมี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก โดยทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ปี พ.ศ. 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) ตามปฏิญญามอสโก และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญและผลักดันเรื่องความปลอดภัยทางถนน โดยกำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2563 ในส่วนของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้เช่นกัน โดยรัฐบาลประกาศให้ พ.ศ. 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย แต่ปัจจุบันยังพบว่าการบาดเจ็บทางถนนยังคงห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDG) ที่ 3.6 ที่ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง
ขณะที่ ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนซึ่งอ้างอิงสถิติขององค์การสหประชาชาติ (WHO) พบว่า จากการประมาณการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทย ปี 2559 มีสูงถึง 22,491 ราย หรือเทียบเท่ากับมีผู้เสียชีวิต 60 คน บนถนนทุกวัน ร้อยละ 75 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี ทั้งนี้ จำนวนรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นจาก 19 ล้านคัน เป็น 20 ล้านคันในระยะเวลา 4 ปี
"ในรายงานมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนของ WHO เมื่อเร็วๆ นี้ ยังระบุอีกว่า ประเทศไทยมีกฎหมายและมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนครบใน 5 ด้าน ได้แก่ ความเร็ว เมาแล้วขับ หมวกนิรภัย เข็มขัดนิรภัย และห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างขับรถ แต่กลับพบว่ามีข้อจำกัดในการส่งเสริมสร้างความความตระหนักของผู้ใช้รถใช้ถนน และการบังคับใช้กฎหมาย เห็นได้จากอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศ ประจำปี 2560 ของมูลนิธิไทยโรดส์ พบว่าเด็กไทยที่เป็นผู้ซ้อนท้ายสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่นที่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 18 เป็นต้น" นายพงศ์ธร ให้ข้อมูลเพิ่ม
นายพงศ์ธร กล่าวต่ออีกว่า ข้อมูลสถานการณ์และปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายในข้างต้น ทำให้ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ รวมถึงเครือข่ายเด็กและเยาวชน ห่วงกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงรวมตัวเป็น เครือข่ายความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนในการสร้างความตระหนัก การเรียนรู้ และการบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ในกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ผ่าน 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่
1.จัดให้มีทางเลือกในการเดินทางเพื่อทดแทนการขับขี่รถจักรยานยนต์ ด้วยการจัดให้มีรถรับส่งนักเรียน และพัฒนาการขนส่งสาธารณะให้ทั่วถึงและมีมาตรฐาน กรณีบ้านอยู่ใกล้สถานศึกษา ควรส่งเสริมการขี่รถจักรยานหรือเดินไปเรียน ทั้งนี้ หากต้องขับขี่ด้วยรถจักรยานยนต์ ต้องใช้หมวกนิรภัยในการขับขี่
2.สนับสนุนให้มีการเรียนรู้ตั้งแต่ปฐมวัย เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อนุบาล และต่อเนื่องไปทุกช่วงวัย ทั้งในด้านแนวคิด การรับรู้ความเสี่ยง และทักษะการขับขี่ โดยเด็กและเยาวชนต้องผ่านหลักสูตรด้านกฎหมายและการใช้ถนน ก่อนได้รับใบขับขี่อย่างเคร่งครัด พร้อมผลักดันการขับเคลื่อนแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน และมีการติดตามอย่างเป็นรูปธรรม
3.ผลักดันการขับเคลื่อน "วาระความปลอดภัยทางถนนของเด็กเยาวชน" และมีการติดตามอย่างเป็นรูปธรรม
"ทางเครือข่ายความร่วมมือฯ จะร่วมกันขับเคลื่อนประกาศเจตนารมณ์ข้างต้น โดยจะให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินงาน และน่ายินดีที่รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขรับปากนำประกาศเจตนารมณ์ในวันนี้ เข้าหารือกับคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ เพื่อหามาตรการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นว่าตัวเลขเยาวชนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุยังสูงอยู่ " ตัวแทนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระบุ
ด้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนประจำปี 2561 ของ WHO ยังพบด้วยว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือร้อยละ 74.4 โดยพบว่าเป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 3,300 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 9 คน ต่อวัน ในกลุ่มนี้เป็นเยาวชนอายุ 15-19 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์มากที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่มากจากการไม่สวมหมวกนิรภัย
ขณะที่ ผลการสำรวจความเชื่อและสถานการณ์ต่ออุบัติเหตุในประเทศไทย จากตัวอย่างกลุ่มประชากรเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 10-25 ปี ทั่วประเทศไทย 1,151 คน โดยอยู่ระหว่างช่วงอายุ 16-20 ปี มากที่สุดร้อยละ 81.6 ที่ทางสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า เยาวชนทราบว่าการไม่สวมหมวกนิรภัยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บขั้นรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้สูงถึงร้อยละ 95.7 แต่กลับใส่สวมหมวกนิรภัยเวลาใช้จักรยานยนต์บางครั้งสูงที่สุดร้อยละ 65.5 และไม่ใส่เลยร้อยละ 7.3 ส่วนสาเหตุที่ไม่ใส่เพราะเห็นว่าระยะทางใกล้ร้อยละ 75.6 และคิดว่าไม่น่าเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 4.9 ขณะที่อัตราเกิดอุบัติเหตุกับตัวเองจากกรณีรถจักรยานยนต์ล้ม /ลื่นไถลมากที่สุดร้อยละ 26.2 บาดเจ็บจากอุบัติเหตุขั้นสาหัสร้อยละ 5.4 พร้อมกันนี้เรียกร้องให้ภาครัฐและองค์กรเอกชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุมากถึงร้อยะ 58
"การบาดเจ็บและเสียชีวิตนี้ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในหลาย ๆ ด้าน เช่น สูญเสียกำลังคนที่จะเติบโตมาพัฒนาประเทศ และอาจลุกลามไปถึงขั้นส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น การรักษาชีวิตของเด็กและเยาวชนในฐานะผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้อุปกรณ์นิรภัย และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้รถใช้ถนน ให้เป็นไปในแบบได้คุณภาพมาตฐาน ทางสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีเครือข่ายเยาวชนแกนนำ ที่มีความรู้พร้อมขยายต่อในการลดการเจ็บตายบนท้องถนน ซึ่งน่าจะเป็นอีกกลไกนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดมากที่สุด โดยทางสถาบันฯ จะเน้นสร้างความตระหนักในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศเป็นกลุ่มแรก และทำเป็นแผนระยะยาว 5 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใช้รถจักรยานยนต์มากที่สุด" เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ระบุ
ขณะที่ นายธนวัฒน์ พรหมโชติ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบันองค์กรหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน ให้ความสนใจในเรื่องนี้ และคงดีมากยิ่งขึ้นหากแต่ละองค์กรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการสร้างความตระหนัก เสริมสร้างทักษะ และพัฒนามาตรการหนุนเสริมการบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ในกลุ่มเด็กและเยาวชนตามช่วงอายุต่าง ๆ นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาเป็นหนึ่งพลังร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งตนเชื่อว่าปัญหาของเยาวชนโดยเฉพาะในเรื่องพฤติกรรมบนท้องถนน หากฟังเสียงและให้โอกาสให้เยาวชนได้เตือน ได้กระตุ้น กันเอง จะสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติไปในทิศทางเชิงบวกได้ และจะกลายเป็นฐานที่เข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
"ธงที่ตั้งไว้จากการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในครั้งนี้ คือ 1.ประเทศไทยจะต้องมีเครือข่ายเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างน้อย 1 เครือข่าย 2.ข้อเสนอนโยบายเพื่อความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชนถูกน่าเสนอต่อนายรัฐมนตรีหรือผู้แทน 3.สร้างแกนนำเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์และนโยบายถนนปลอดภัยในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้ได้ 200 คน และ 4.เครือข่ายเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นนั้นสามารถวางแนวทาง แผนการขับเคลื่อนนโยบาย และมาตรการการเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนนได้เอง" รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย