รายละเอียดโมเดลของกระดุม 5 เม็ด (แบบสรุป)
กระดุมเม็ดที่ 1 ปัญหาที่ดิน : 90% ของที่ดินถือครองโดยคนเพียง 10% ซึ่ง 75% เป็นคนไทยที่ไม่มีโฉนดเป็นของตนเอง และชาวนา 45% ยังต้องเช่าที่ดินอยู่ ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบทุนนิยมได้
กระดุมเม็ดที่ 2 ปัญหาหนี้สิน : หากเกษตรกรอยู่ในวงจรหนี้สิน สิ่งแรกที่จะนึกถึงคือการรีบใช้หนี้ให้ได้ และทำให้ติดลูปปลูกพืชซ้ำ ๆ เดิม ๆ จนเป็นปัจจัยกดดันราคา
กระดุมเม็ดที่ 3 ต้นทุนสูง : เกษตรกรทำงานด้วยต้นทุนสูง แต่ได้ราคาต่ำ ทำให้ไม่สามารถเก็บออม และไม่มีเงินทุนเป็นของตัวเอง จึงไม่สามารถเข้าถึงการแปรรูปและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้
กระดุมเม็ดที่ 4 นวัตกรรม : การแปรรูปสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกัญชามีคุณค่ามากกว่ามูลค่า และห่วงว่าคนไทยต้องนำเข้ากัญชา และมีทุนใหญ่ผูกขาดผลประโยชน์ คำถามคือจะผลักดันกัญชาทางการแพทย์ให้เป็นเบอร์ 1 ของเอเชียได้อย่างไร?
กระดุมเม็ดที่ 5 การท่องเที่ยวเชิงเกษตร : หลายคนต้องการพัฒนาตัวเองจากผู้ผลิต เป็นผู้ให้บริการเกษตรเชิงท่องเที่ยว แต่ติดปัญหาที่กระดุมเม็ดที่ 1 เหมือนเดิม
แม้ว่าปัญหาทั้งหมดที่เรียบเรียงออกมาเป็นกระดุม 5 เม็ดให้เข้าใจได้ง่ายนี้ ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหาโดยรวมของพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ ซึ่งมีอีกมากมายหลายปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งสังเกตได้ง่าย ๆ ว่ายังไม่พบเกษตรกรตัวจริงของประเทศ ที่ร่ำรวยได้เหมือนเกษตรกรแถบในประเทศ ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ฯลฯ เรียกว่าเกือบ ร้อยทั้งร้อย ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรยังยากจนข้นแค้นและมีหนี้สินอยู่มาก....
แต่ก็ต้องขอบคุณท่าน ส.ส.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ได้ทำให้รัฐบาลและประชาชนในสาขาอาชีพอื่น ๆ ได้รับรู้ถึงปัญหาหลัก ๆ เหล่านี้จากโมเดลกระดุม 5 เม็ด และอยากจะฝากเพิ่มเติมเข้าไปในเรื่องต่าง ๆ อีกเพื่อให้สื่อมวลชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ และเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรของเราให้สามารถดำรงชีพได้แบบลืมตาอ้าปากกันจริง ๆ ด้วยการช่วยกันกระตุ้นให้รัฐบาลแก้ไข หรือ กำหนดนโยบายดำเนินการ ช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงจุดดังนี้
1. การจัดสรรที่ดินทำกินของพี่น้องเกษตรกรและประชาชนผู้ยากไร้ ควรยกเลิกกฎระเบียบและข้อจำกัดที่มีเงื่อนไขไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตออกไป และควรยกเลิก ควบคุม ดูแล อย่าปล่อยให้นายทุนเช่า สัมปทาน อีกทั้งไปออกกฎหมายให้ถือครองที่ดินแบบพิเศษ ซึ่งรัฐได้ผลตอบแทนน้อยมาก
2. บริหารจัดการแหล่งน้ำ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้เข้าถึงที่ดินและแหล่งทำกินของประชาชนหรือเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหา น้ำท่วม ภัยแล้ง ซ้ำซาก และอำนวยความสะดวกในการดำรงชีพและทำอาชีพเกษตรกรรม
3. เกษตรกรมีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว เกินมูลค่าที่ดินและหลักทรัพย์ เกษตรกรอีกส่วนหนึ่งติดแบล็คลิสก์ จึงไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบ จึงขาดเงินทุนในการดำเนินงาน เรื่องนี้ต้องแก้ไขและช่วยเหลืออย่างจริงจัง
4. เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงเงินที่รัฐจัดลงไปให้โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น งบพัฒนาจังหวัดที่ผ่านหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พัฒนาชุมชน หรือแม้กระทั่งงบผ่านธนาคารออมสิน กรุงไทย ธกส. SME. เพราะติดที่ข้าราชการหรือผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น พนักงานรัฐหรือพนักงานธนาคาร ปัจจัยเหล่านี้นำพาพวกเขาเข้าสู่หนี้นอกระบบ
5. ต้องส่งเสริมเรื่อง "เกษตรอินทรีย์" "เกษตรปลอดสารพิษ" อย่างจริงจัง ด้วยการสร้างมาตรฐานที่น่าเชื่อถือและในเบื้องต้นเพื่อสร้างราคาที่แตกต่าง จนกว่าจะเริ่มกลับสู่จุดสมดุลและราคาไม่แพง ไม่ใช่มีการรับรองและได้ตราสัญลักษณ์จากภาครัฐแล้ว แต่กลับตรวจพบสารพิษตกค้างอยู่แถมได้ขายอยู่บนห้างชั้นนำของประเทศด้วย ซึ่งทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ และที่สำคัญควรกำหนดให้มีเพียงมาตรฐานเดียวเท่านั้นและสามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลกให้เป็นสากล
6. เปิดโอกาสให้เกษตรกร ผลิตปัจจัยการผลิตและจัดจำหน่ายได้ด้วยตนเอง ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จุลินทรีย์และสมุนไพรในการกำจัดโรคแมลง สารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ โดยให้มีการประกวดแข่งกันผลิตให้ได้มาตรฐานที่ต้องการ โดยเริ่มคัดเลือกจาก 10,000 คนในปีแรก และคัดเลือกให้เหลือ 5,000 คนในปีถัดไป และคัดเลือก ไปเรื่อย ๆ จนได้เกษตรกรหรือปราชญ์ชาวบ้านหัวก้าวหน้าที่สามารถผลิตปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์ เพื่อทดแทนเงินตราที่รั่วไหลออกนอกประเทศจากการนำเข้าสารพิษวัตถุอันตรายปีละเกือบ 100,000 ล้านบาท และรวมถึงการดูแลรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บจากสารพิษการเกษตร โดยรัฐต้องเสียเงินอีกมากมายมหาศาล
ทั้งหมดคือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในมุมของชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ที่ต่อยอดมาจากโมเดลกระดุม 5 เม็ดของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้แต่หวังให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาทบทวนและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติของเราให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปครับ
สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02 986 1680 – 2