สำหรับการดำเนินการของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฎิรูปอุดมศึกษา มจพ.ได้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve และเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศต่อสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และได้รับการคัดเลือก ดังนี้ หลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non-degree) จำนวน 7 หลักสูตร และหลักสูตรประเภทปริญญา (Degree) จำนวน 9 หลักสูตร
โดยหลักสูตรประเภทปริญญา (Degree) จำนวน 9 หลักสูตร ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ฯ มีการจัดการเรียนการสอนแล้ว ดังนี้
1. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมยานพาหนะและโครงสร้างพื้นฐานระบบราง
2. หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
3. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์
4. หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีแมคคาทรอนิกส์
5. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุ
6. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์
7. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี
8. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมกระบวนการเคมี
9. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงสถิติ
ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ในโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่นั้น ทาง มจพ. ได้ จัดการเรียนการสอนที่สอดรับกับนโยบายการปฎิรูปอุดมศึกษา ดังนี้
1. เป็นหลักสูตรสาขาวิชาที่มีความพร้อมที่จะต่อยอดเพื่อพัฒนาสมรรถนะคุณภาพอาจารย์และนักศึกษา การเรียนการสอน และสาขาวิชาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ และสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
2. ลักษณะหลักสูตรที่บูรณาการหลายศาสตร์ และมีการจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการและหน่วยงานภายนอก รวมถึงมหาวิทยาลัยอื่น ๆ
3. มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตที่มุ่งสู่การยกระดับการผลิตบัณฑิตและคนในวัยทำงาน ให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพพร้อมทำงาน โดยมีทักษะและสมรรถนะ และ สร้างการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
4. ลักษณะการจัดการเรียนการสอนต้องสนับสนุน เทคโนโลยีที่ทันสมัย สอดคล้องกับลักษณะสาขาวิชาและสภาพปัจจุบันของโลก มีความร่วมมือกับต่างประเทศ การจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work-Integrated Learning : WiL) โดยมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนและการฝึกงาน/ทำงานในสถานประกอบการ ตลอดจนทักษะเฉพาะที่สัมพันธ์กับวิชาชีพเมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถทำงานได้ทันทีและมีคุณภาพ การยกระดับการจัดการเรียนการสอน การเสริมสร้างความรู้ความชำนาญให้กับผู้เรียนเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดในหลักสูตร นโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ของชาติ รวมถึงจัดแนวทางการวัดและประเมินผลด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่าบัณฑิตมีคุณภาพตามที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตามทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอขออนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2561-2562 โดยอนุมัติงบประมาณกลาง ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 857.6 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการที่ดำเนินการโครงการดังกล่าว ประมาณ 200 หลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรระดับปริญญา 100 หลักสูตร ระดับประกาศนียบัตร 100 หลักสูตร โดยในปีการศึกษา 2561 มีมหาวิทยาลัยรัฐที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 20 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่ง นอกจากนี้ ได้อนุมัติให้จัดตั้งงบประมาณปี 2563 ไว้ในงบปกติเพื่อให้การดำเนินโครงการต่อเนื่องอีกประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งทาง มจพ. ก็เดินหน้าเต็มที่ เมื่อปี 2561 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ ได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนใน "โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฎิรูปอุดมศึกษา" ได้ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของหลักสูตรที่ มจพ. ได้รับการคัดเลือกโครงการที่สอดรับกับประเทศมีความต้องการกำลังคนระดับช่างเทคนิคและนักเทคโนโลยีจำนวนมาก เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ตามโครงการสร้างบัณฑิตพันธ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฎิรูปอุดมศึกษา สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่ง มจพ.เห็นความสำคัญและมีความพร้อมที่จะผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ พร้อมต้องการจะยกระดับการศึกษาสายอาชีพของไทยให้มีคุณภาพดีขึ้น รศ. ดร.เสาวณิต กล่าวท้ายที่สุด
สำหรับปีการศึกษา 2562 ทาง มจพ. ได้ดำเนินการส่งหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non-degree) จำนวน 1 หลักสูตร และหลักสูตรประเภทหลักสูตร (Degree) จำนวน 3 หลักสูตร ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้โครงการที่ผ่านการคัดเลือกในปีงบประมาณ 2561 ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณมายังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในส่วนของการจัดการเรียนการสอนนั้นได้เริ่มดำเนินการในบางส่วนแล้ว
การพัฒนาหลักสูตร Non-degree และ Degree เพื่อผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ได้ต่อยอดขยายผลทางการศึกษาอย่างรอบด้านนับว่าเป็นการสร้างบัณฑิตพันธ์ใหม่ที่มีศักยภาพและความสามารถเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมในภาคการผลิตได้ตามนโยบายการปฎิรูปอุดมศึกษาไทย โอกาสดีสำหรับผู้ที่ต้องเข้าร่วมเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ "ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่" สามารถสอบถามรายะเอียดได้ที่กองบริการการศึกษา มหามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ