ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เพราะโลกขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ และแพลตฟอร์มการศึกษาของมหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนไป วิศวะมหิดลมุ่งมั่นที่จะสร้างมิติใหม่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักศึกษาใหม่ชั้นปีที่ 1 นับตั้งแต่ก้าวแรก เพื่อมุ่งสู่การเป็นวิศวกรของโลก (Global Engineer) ด้วยการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับโลกวันนี้และสิ่งที่จะเกิดในอนาคต จึงได้จัดงาน "Born to Be Engineer" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจและคิดวิเคราะห์จากสิ่งที่เห็นจริงในอุตสาหกรรมและสามารถจินตนาการถึงอนาคต ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของวิชาชีพวิศวกรในอนาคต ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก สามารถเชื่อมต่ออดีต ปัจจุบันเข้ากับอนาคต และได้ซึมซับหลากหลายวิถีการทำงานขององค์กรสถานประกอบการที่ขับเคลื่อนงานวิศวกรรม เพื่อมาสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด หนุ่มสาวนักศึกษาใหม่จาก 7 ภาควิชาที่มาร่วมงานนี้ ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมเคมี ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม แม้จะมาจากต่างภาควิชาแต่การได้สานมิตรภาพ พบปะ และทำความรู้จักกันในกิจกรรมสัมพันธ์ ก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคณาจารย์ บุคลากร และเพื่อน ๆ นักศึกษาที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ในบรรยากาศที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น มิตรภาพและความอบอุ่น
กิจกรรม "Born to Be Engineer" นำนักศึกษาวิศวะมหิดล ไปเยือน AMATA Showcase , สถาบันไทย - เยอรมัน (Thai-German Institute) , โรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และศึกษาดูงานในบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ตั้งภายในนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ เพื่อเรียนรู้ระบบการทำงานทันสมัย โรงงานอัจฉริยะ และนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ เอ็กเชดดี้ ฟริคชั่น แทททีเรียล จำกัด , อมตะ บี. กริม แพล้นท์ที่ 3 เป็นต้น
คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวแก่นักศึกษาตอนหนึ่งว่า "การที่เราจะเป็นนักศึกษาที่ดี จะเป็นนักธุรกิจที่ดี หรือนักพัฒนาที่ดีนั้น เราจะต้องคิดเสมอว่าเราต้องเป็นคนดี และเราต้องคิดเสมอว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำดี"
นอกจากนี้หนุ่มสาววิศวะมหิดล ยังไปเยี่ยมชม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศมีบทบาทต่อชีวิตยุคใหม่ การสื่อสาร ธุรกิจอุตสาหกรรมมากมาย ความปลอดภัยและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีรุ่นพี่ศิษย์เก่าให้การต้อนรับและเป็นวิทยากรพาชม เช่น การเรียนรู้ข้อมูลขั้นตอนการควบคุมดาวเทียม การรับสัญญาณดาวเทียมและรับชม Space Inspirium สัมผัสประสบการณ์ในห้องปฏิบัติการ GALAXI พร้อมทั้งได้มีโอกาสชมอาคารควบคุมดาวเทียมและห้องรับสัญญาณ ได้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้ แล้วยังสร้างความประทับใจแก่นักศึกษาเฟรชชี่เป็นอย่างมาก พลังของคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะร่วมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวต่อไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้และนวัตกรรมร่วมแรงร่วมใจพัฒนาประเทศไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยกัน