คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า ภาคภูมิใจกับการจัดการศึกษาด้านวิชาชีพของอาชีวศึกษา ที่ดำเนินการมาจนครบวาระ 78 ปี ที่ผ่านมาถือได้ว่าผู้ที่เรียนจบจากอาชีวศึกษา คือผู้ที่ได้ช่วยเหลือพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเต็มที่ มีความพร้อมในการประกอบอาชีพ มีทักษะในการปฏิบัติ เรียนไปไม่ตกงาน เรียกได้ว่า "เรียนอาชีวะแก้จน สร้างคน สร้างชาติ" โอกาสนี้จึงขออวยพรให้อาชีวศึกษามีความเจริญก้าวหน้า มีความเข้มแข็งและสร้างคนคุณภาพออกไปพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากกล่าวอวยพรแล้วคุณหญิงกัลยา ได้ทำพิธีตัดเค้กขนาดใหญ่ 5 ชั้น ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาอาชีวะ แจกจ่ายให้กับผู้มาร่วมงานโดยทั่วถึงกัน
ด้าน เลขาธิการกอศ. กล่าวต่อไปว่า อาชีวศึกษาเป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จัดการศึกษาด้านวิชาชีพ เพื่อสร้างกำลังคนคุณภาพที่เปี่ยมทักษะฝีมือ ออกสู่ภาคการผลิตและภาคบริการของประเทศ มีสถานศึกษาในสังกัดรวมจำนวนทั้งสิ้น 904 แห่ง แบ่งเป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐ 429 แห่ง ภาคเอกชน 474 แห่ง จัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ ทวิภาคี และระยะสั้น ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือปฏิบัติการ และการฝึกอบรมระยะสั้น ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ "ทวิภาคี" เนื่องจากเป็นช่องทางการศึกษาที่สร้างความพึงพอใจให้ทั้งผู้เรียน ผู้ปกครอง และสถานประกอบการ ตลอดจนสร้าง "นิสัยอุตสาหกรรม" ได้แก่ ความรับผิดชอบ การมีวินัยในตัวเอง มีความอดทน มีการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน ปัจจุบันอาชีวศึกษาได้จัดการศึกษาด้านวิชาชีพ มุ่งสู่ศาสตร์ที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การเรียนหลักสูตรโคเซ็น 5 ปี การเรียนแบบวีเชพ อาชีวะฐานวิทย์ ช่างซ่อมอากาศยาน ระบบขนส่งทางราง พาณิชย์นาวี ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ตอบโจทย์การมีงานทำทันทีหลังเรียนจบอย่างเป็นรูปธรรม จำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษามีมากขึ้น มีสัดส่วนการเรียนสายสามัญ : สายอาชีพ 60:45 และน่าจะพยากรณ์ได้ว่าในปีการศึกษา 2563 จำนวนผู้เรียนอาชีวะก็จะเพิ่มขึ้นอีก นอกจากจะมีงานทำทันทีหลังเรียนจบ ผู้เรียนอาชีวะจะมีความก้าวหน้าในอาชีพ และมีค่าตอบแทนสูงตามสมรรถนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงความรับผิดชอบของการอาชีวศึกษาที่มีต่อตัวผู้เรียน ผู้ปกครอง และสังคม ด้านกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิต การดูแลช่วยเหลือสังคม อาชีวศึกษาได้มีกิจกรรมรูปแบบ "อาชีวะอาสา" "อาชีวะบริการ" และ "Fix it Center" ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะคนเรียนอาชีวะจะมีทักษะฝีมือติดตัวสามารถนำออกมาใช้ได้ทันที
เลขาธิการ กอศ.กล่าวปิดท้ายว่า การก้าวเข้าสู่ปีที่ 78 ของอาชีวศึกษา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการศึกษาของประเทศ อาชีวะจะสร้างสะพานเชื่อมโยงกับการศึกษาทุกรูปแบบ และจะพัฒนาตัวเองให้สู่ความเป็นสากล สร้างเยาวชนให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ มีอาชีพ มีงานทำ เป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพของประเทศ เป็นปีแห่งการพัฒนาคุณภาพและสร้างความเชื่อมโยงสู่การศึกษาทุกรูปแบบ