การเรียกร้องค่าเสียหายกรณีถุงลมนิรภัยทาคาตะบกพร่อง
ศาสตราจารย์เอริก ดี.กรีน ในฐานะเจ้าหน้าที่พิเศษและทรัสตี ได้ประกาศโครงการชดเชยค่าเสียหายสำหรับการบาดเจ็บของบุคคล (personal injury) หรือการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ (wrongful death) อันเนื่องมาจากการระเบิดของตัวสูบลม (inflator) ในถุงลมนิรภัยทาคาตะที่ใช้แอมโมเนียมไนเตรตในการพองตัว ("ความบกพร่องของตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะ") ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม2561 ภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้เสียหายอาจเรียกร้องค่าชดเชยจากกองทุนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนบุคคลที่ได้รับความเสียหาย ("IRF") วงเงิน 125 ล้านดอลลาร์ของกระทรวงยุติธรรม และ/หรือกองทุนทรัสต์เพื่อชดเชยการละเมิดในคดีถุงลมนิรภัยทาคาตะ ("TATCTF") วงเงินราว 140 ล้านดอลลาร์ โดยกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และบุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายก็ยังคงมีเวลาในการยื่นคำร้อง
บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยมิชอบ อันเนื่องมาจากตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะ สามารถดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายได้สามประเภท ได้แก่ (i) "IRF Claim" เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายต่อทาคาตะสำหรับเงินสินไหมทดแทนจากกองทุน IRF ซึ่งเป็นกองทุนชดเชยค่าสินไหมทดแทนสำหรับบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยมิชอบ กองทุนนี้กำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่พิเศษ และจัดตั้งขึ้นภายใต้คำสั่ง Restitution Order ของศาลแขวงสหรัฐสำหรับเขตตะวันออกของรัฐมิชิแกน สืบเนื่องจากการดำเนินคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรมต่อบริษัททาคาตะ, สหรัฐ กับ ทาคาตะ คอร์ปอเรชั่น, คดีหมายเลข 16-cr-20810 (E.D. Mich.), (ii) การเรียกร้องประเภท "Trust Claim" ต่อทาคาตะสำหรับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุน TATCTF ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์สำหรับการบาดเจ็บของบุคคลและการเสียชีวิตโดยมิชอบที่กำกับดูแลโดยทรัสตี และจัดตั้งขึ้นตามแผนฟื้นฟูกิจการมาตรา 11 ของทาคาตะ ในศาลล้มละลายสำหรับเขตเดลาแวร์ และ (iii) การเรียกร้องประเภท "POEM Claim" ต่อผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิมที่เข้าร่วมโครงการ ("POEM" ปัจจุบัน POEM มีรายเดียวคือ Honda/Acura) เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจาก POEM ซึ่งต้องดำเนินการผ่านกองทุน TATCTF ที่ดูแลโดยทรัสตี
การเรียกร้องค่าเสียหายแต่ละประเภทจากทั้งสามประเภทดังกล่าว มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องในแต่ละประเภท และการเรียกร้องค่าเสียหายแต่ละประเภทจะครอบคลุมเฉพาะการบาดเจ็บทางร่างกายและการเสียชีวิตโดยมิชอบ ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องของตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะเท่านั้น โดยการเรียกร้องค่าเสียหายทั้งสามประเภทที่อธิบายไปข้างต้นนั้นจะไม่ครอบคลุมการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตอันมีสาเหตุจากชิ้นส่วนอื่น ๆ ของถุงลมนิรภัย อาทิ ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน, การพองตัวขึ้นเองของถุงลมนิรภัย, การบาดเจ็บจากการชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวสูบลบ หรือการได้รับเสียหายทางเศรษฐกิจ (economic losses) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บทางร่างกายหรือการเสียชีวิต
บุคคลสามารถขอรับแบบฟอร์มการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งรวมถึงคำแนะนำโดยละเอียดเกี่ยวกับวิธีการยื่นคำร้องได้ที่เว็บไซต์ของ IRF www.takataspecialmaster.com หรือเว็บไซต์ของ TATCTF www.TakataAirbagInjuryTrust.com
การกำกับดูแลกระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายและแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ศาสตราจารย์กรีนได้รับการแต่งตั้งโดยศาลแขวงให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พิเศษดูแลเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทุน IRF และได้รับการแต่งตั้งจากศาลล้มละลายให้ทำหน้าที่เป็นทรัสตีดูแลการเรียกร้องค่าเสียหายประเภท Trust Claims และการเรียกร้องค่าเสียหายประเภท POEM Claims
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้อง, กำหนดวันยื่นคำร้อง และวิธีการยื่นคำร้อง กรุณาเข้าไปที่ www.takataspecialmaster.com, www.TakataAirbagInjuryTrust.com, อีเมล [email protected] หรือโทรฟรีที่หมายเลข (888) 215-9544