ที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี มีความโดดเด่นในเรื่องของขลุ่ยไทย แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เขามีความรู้ความเข้าใจในดนตรีสากลเป็นอย่างดี ในแวดวงแจ๊ส เขาเป็นมือแซ็กโซโฟนรุ่นใหญ่ เล่นมารุ่นราวคราวเดียวกันกับนักดนตรีแถวหน้า อย่าง วิชัย อึ้งอัมพร และ สุเทพ น้อมกรานต์ ด้วยซ้ำ
ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นชาวสิงห์บุรีโดยกำเนิด เข้ามาเล่นดนตรีในกรุงเทพฯ ตั้งแต่จบชั้นมัธยมในปี พ.ศ.2510 สอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน เรียนถึงปี 3 ก็ลาออกมาสอบใหม่ เข้า มศว.ประสานมิตร จากนั้นอีกหนึ่งปีก็สอบใหม่เข้ามหาวิทยาลัยเดิม แต่หนนี้เลือกวิชาเอก ดนตรีสากล เมื่อเรียนจบได้เป็นครูสอนดนตรีที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม จนกระทั่งเป็นหัวหนาภาควิชาดนตรี ต่อมาได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษที่ มศว.ประสานมิตร อีกด้วย ปัจจุบัน ธนิสร์ เป็นศิลปินอิสระ และเป็นวิทยากรรับเชิญทางด้านดนตรีไทยและสากลตามสถาบันศึกษาทั่วประเทศ
ธนิสร์ ได้ร่วมวง 'คาราบาว' ทำงานชุด เมดอินไทยแลนด์ อเมริโกย ประชาธิปไตย เวลคัมทูไทยแลนด์ อีสานเขียว และ ทับหลัง และยังมีผลงานเดี่ยวที่ทำให้ขลุ่ยไทยเป็นพระเอก ได้แก่อัลบั้ม ชุดลมไผ่ 1-2-3, ขลุ่ยกับธรรมชาติชุด ลมชีวิต , อัลบั้มขลุ่ยประชันกับ Woodwind Quartet ชุด Rhythm of Mind ร่วมกับวงซาฮาร่า จากสหรัฐฯ และอัลบั้มเพลงขลุ่ยประชันกีตาร์คลาสสิก ที่บรรเลงโดย โรเบิร์ต ฟิลลิป ชาวอเมริกัน
ส่วนงานเบื้องหลัง ธนิสร์ ทำงานเรียบเรียงเสียงประสานให้แก่ศิลปินนักร้องมากมาย อาทิ นัดดา วิยะกาญจน์, ไพจิตร อักษรณรงค์, ทิพวรรณ ปิ่นภิบาลและกุ้ง กิตติคุณ เป็นต้น รวมทั้งงานด้านดูแลการผลิต (โปรดิวซ์) ให้แก่ หงา คาราวานชุด รัตติกาล , วงสามโทน ชุด สวัสดีประเทศไทย , วงประจัญบานชุด คิดถึงบ้าน , อรวี สัจจานนท์ ชุด ดอกไม้เปลี่ยนสี และแช่ม แช่มรัมย์ ชุด แช่ม แช่มรัมย์ เป็นต้น
ผลงานที่ถือเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งของ ธนิสร์ คือ บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ชุด ความหวังอันสูงสุด ด้วยขลุ่ยไม้นางพญางิ้วดำ เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และงานอัลบั้ม ชุด เพื่อพ่อ ถวายเนื่องในวโรกาสครบรอบ 72 พรรษา นอกจากนี้ ธนิสร์ยังได้ร่วมงานแสดงคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์อีกหลายโอกาส และได้เป็นตัวแทนศิลปินไทยเล่นคอนเสิร์ต Asian Fantasy Orchestra 2003 ร่วมกับนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญเครื่องดนตรีต่างๆ จากประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงพระเจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ
ไม่เกินจริง หากเราจะกล่าวว่า ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์สองโลก เพราะเขาเห็นทั้งโลกดนตรีไทยที่มีจารีตเฉพาะตัว และโลกดนตรีสากลที่เปิดกว้างเหมือนมหาสมุทร
ในงาน "น้อมคารวะศิลปินแห่งชาติ" ครั้งนี้ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และผองเพื่อน ประกอบด้วย ภูษิต ไล้ทอง (แต๋ง วงเฉลียง) , สมชาย แก้วเจริญ, ประทีป ขจัดพาล, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ , ไข่ มาลีฮวนน่า ฯ พร้อมด้วยลูกศิษย์รุ่นหลาน จะนำเสนอเสียงดนตรี ที่ผ่านการเก็บเกี่ยวประสบการณ์มายาวนาน ผนวกกับความมุ่งมั่นในการพัฒนา "ขลุ่ยไทย" เพื่อนำเสนอศักยภาพของเครื่องดนตรีอันเรียบง่ายชิ้นนี้ ให้ปรากฏในโลกดนตรีร่วมสมัยอย่างเต็มภาคภูมิ