2 แบงก์ไทยนำทีม บูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล สู่ความยั่งยืน

พุธ ๒๑ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๕๖
ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้นำด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธนาคารไทย ที่ได้รับการประเมินโดย WWF ผลจากการศึกษาชี้ธนาคารไทยสามารถบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลได้ดี ขณะที่ภาพรวมยังพัฒนาได้อีกมาก

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เปิดผลสำรวจการประเมินความสามารถในการบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance – ESG) ของธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจากการประเมินธนาคาร 35 แห่ง ตามรายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร หรือ Sustainable Banking Assessment (SUSBA) พบธนาคารเพียง 4 แห่งจากสิงคโปร์ และไทย ที่สามารถดำเนินกิจการได้ตามหัวข้อการประเมินอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเกณฑ์การประเมินจำนวน 70 ข้อ โดยมีการพิจารณาจากกรอบการดำเนินงาน 6 ด้านหลัก ได้แก่ วัตถุประสงค์, นโยบาย, กระบวนการ, บุคลากร, ผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอ ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจ

ในผลกระทบที่จะมีต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ร้อยละ 51 ของธนาคารที่ได้รับการประเมินยังปฏิบัติได้ไม่ถึง 1 ใน 4 ของหลักเกณฑ์ดังกล่าว

"ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันในทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่เติบโตอาจสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงอาจทำให้สิ่งแวดล้อมต้องถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้และเพื่ออนาคตที่มั่นคงของประชากร ธนาคารในภูมิภาคอาเซียนต้องดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญอื่นๆ ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร" จีนนี่ สแตมป์ หัวหน้าโครงการ Asia Sustainable Finance ของ WWF กล่าว

รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร (SUSBA) ประจำปี พ.ศ. 2562 นี้ WWF จัดทำขึ้นเพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของธนาคาร 35 แห่งจาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเครื่องมือนี้ถูกออกแบบมาเพื่อติดตามการดำเนินงานของธนาคารด้านความยั่งยืน ซึ่งจะพิจารณาว่าธนาคารแต่ละแห่งมีความตั้งมั่นในการคัดกรอง หรือมีกลไก และการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางการพิจารณาให้กู้ยืมสินเชื่อกับลูกค้า รวมถึงการติดตามผล ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านสิ่งแวดล้อมในพอร์ตสินเชื่อ

สำหรับธนาคารในประเทศไทย ผลการประเมินในภาพรวมแสดงให้เห็นความคืบหน้าในการบูรณาการ ESG เข้าสู่กระบวนการทำงานเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทยถือเป็นผู้นำ โดยสามารถดำเนินการได้สูงกว่าร้อยละ 40 ของเกณฑ์การประเมิน

"ธนาคารไทยยังแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าด้านการพัฒนาบุคคลากร โดยเน้นการพัฒนาขีดความสามารถและการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดความมีประสิทธิผลของการบูรณาการด้าน ESG ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของธนาคารในอนาคต" นางสาวพรฤดี ตังคเศรณี ผู้จัดการโครงการการเงินเพื่อความยั่งยืนของ WWF กล่าว

นอกจากนี้ จากผลการประเมินในระดับภูมิภาคของปีนี้ พบว่า ธนาคาร DBS, OCBC และ UOB แสดงความเป็นผู้นำ โดยการประกาศนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน รวมถึงมีการปฏิบัติตามข้อผูกพันเกี่ยวกับการไม่ทำลายป่า

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการประเมินทั่วทั้งภูมิภาคในเรื่องให้การสนับสนุนที่เพียงพอต่อการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนอันเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารในภูมิภาคอาเซียนยังทำได้ไม่รวดเร็วพอ โดยพบว่ามีธนาคารเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่มีการดำเนินนโยบายบริหารความเสี่ยงหรือการประเมินความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ มีธนาคารเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ที่กำหนดนโยบายให้ลูกค้าต้องมีการดำเนินงานโดยอ้างอิงมาตรฐานการดำเนินธุรกิจตามกรอบความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือ

ภาคการเงินในภูมิภาคอาเซียนมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม โดยเห็นได้จากการที่ธนาคารกว่าร้อยละ 91 ในภูมิภาค ยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเชื้อเพลิงพลังฟอสซิลเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีธนาคารพาณิชย์เพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่กำหนดนโยบายมิให้มีการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงมีเพียงร้อยละ 17 ของธนาคารที่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของโลก

"รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคารที่ WWF จัดทำขึ้นนี้เป็นเครื่องมือสำคัญต่อนักลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยจะช่วยให้เราติดตามความคืบหน้าของการบูรณาการESG ในธนาคารต่างๆ ได้ รวมทั้งยังสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อผลักดันให้เกิดพัฒนาการที่ดีของภาคธุรกิจการเงินการธนาคารได้" อลิสแตร์ ทอมสัน ผู้อำนวยการ First State Investment ซึ่งเป็นสถาบันการเงินจากประเทศสิงคโปร์กล่าวสรุป

รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร

รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร หรือ SUSBA ประจำปี 2562 นี้เป็นการปรับปรุงจากรายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคารประจำปี 2561 ที่ WWF ได้จัดทำขึ้น เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของธนาคาร 35 แห่ง จาก 6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยประเมินจากตัวชี้วัดที่แสดงถึงความสามารถในการบูรณาการ ESG ของธนาคาร ( ได้แก่ เจตจำนง นโยบาย กระบวนการ บุคคลากร ผลิตภัณฑ์ และ พอร์ตโฟลิโอ) ผลการประเมินนี้นำเสนอในรูปแบบของเว็บไซต์ (www.susba.org) ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกระบุธนาคารที่ต้องการทราบผลและเลือกหลักเกณฑ์ที่ต้องการข้อมูลได้

เครื่องมือการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร (SUSBA Tool) ที่จัดทำขึ้นโดย WWF ถูกนำมาใช้เพื่อติดตามการบูรณาการ ESG ของธนาคารทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2560รวมทั้งเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของธนาคารโดยอ้างอิงจากกรอบการดำเนินงานที่ยั่งยืนทั้ง 6 ด้าน เครื่องมือนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อติดตามการดำเนินงานของของธนาคารด้านความยั่งยืน โดยพิจารณาว่าธนาคารมีความตั้งมั่นที่จะคัดกรองกิจกรรมของธนาคาร ผ่านนโยบายการให้กู้ยืม การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อลูกค้าและระบบติดตามผล รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงและโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านสิ่งแวดล้อมของพอร์ตสินเชื่อ โดยในปี 2562 นี้มีธนาคารที่ได้รับการประเมินทั้งสิ้น 35 แห่งที่ดำเนินงานใน 6 ประเทศ

หลักเกณฑ์การประเมินนี้จะพิจารณาจากข้อมูลภาษาอังกฤษที่เปิดเผยต่อสาธารณะและได้รับการเผยแพร่ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของรายงานประจำปี 2561 รายงานความยั่งยืน หรือ รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ขององค์กร

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สำนักงานประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และ WWF ถือเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงานด้าน การอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก ที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษา ทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภค ที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ